วันอังคารที่ 1 มีนาคม พ.ศ. 2554

สัปดาห์ที่ 12 : ลักษณะทั่วไปของการเลือกตั้ง


ลักษณะทั่วไปของการเลือกตั้ง

เราได้นำเสนอบทเรียนที่เกี่ยวข้องกับวิชานี้ไปแล้ว 2 หมวดใหญ่ คือ หมวดว่าด้วยเรื่องพรรคการเมือง และหมวดว่าด้วยกลุ่มผลประโยชน์ ต่อไปจะได้ว่าด้วยเรื่องสุดท้ายของวิชาคือหมวดว่าด้วยการเลือกตั้ง  สำหรับในสัปดาห์นี้จะนำเสนอเรื่องแรกของการเลือกตั้งในหัวข้อว่า ลักษณะทั่วไปของการเลือกตั้งที่แตกประเด็นเป็นหัวข้อย่อย 9 รายการดังนี้
1.ความหมายของการเลือกตั้ง
2.อุดมการณ์ ของการเลือกตั้ง
3.ประวัติการเลือกตั้ง
4.สิทธิในการออกเสียงเลือกตั้ง
5.ใครบ้างที่ต้องผ่านการเลือกตั้ง
6.การลงประชามติ
7.สิทธิในการลงคะแนนเสียง
8.การรณรงค์หาเสียงทางการเมือง
9. การโกงการเลือกตั้ง
10.บทบาทของการเลือกตั้ง

---------------------------

ความหมายของการเลือกตั้ง
การเลือกตั้ง (Election) คือ กระบวนการตัดสินใจอย่างเป็นทางการที่ประชาชนใช้ในการเลือกบุคคลที่จะเข้าดำรงตำแหน่งสาธารณะหรือตำแหน่งทางการเมือง  การเลือกตั้งได้ถูกใช้เป็นกลไกปกติสำหรับการทำงานของระบอบประชาธิปไตยแบบมีผู้แทนนับตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 17 เป็นต้นมา การเลือกตั้งนี้อาจเป็นการเลือกตั้งเพื่อการเข้าสู่ตำแหน่งของฝ่ายนิติบัญญัติ  ฝ่ายบริหาร และฝ่ายตุลาการ ทั้งอาจเป็นการเลือกตั้งสำหรับตำแหน่งของรัฐบาลในระดับภูมิภาคและระดับท้องถิ่นก็ได้

การใช้การเลือกตั้งอย่างเป็นสากลสำหรับเป็นเครื่องมือในการเลือกผู้แทนในระบอบประชาธิปไตยสมัยใหม่เป็นสิ่งที่ขัดแย้งกับหลักปฏิบัติตามแบบประชาธิปไตยของนครรัฐเอเธนส์ของกรีซโบราณ  ซึ่งสมัยกรีซโบราณถือว่าการเลือกตั้งเป็นสถาบันของพวกคณาธิปไตย และในการนำคนเข้าสู่ตำแหน่งทางการเมืองนั้นเขาจะใช้วิธีจับสลาก กล่าวคือใครที่จับสลากได้คนนั้นก็จะเข้าดำรงตำแหน่งทางการเมือง


อุดมการณ์ ของการเลือกตั้ง
ในหนังสือเรื่อง “The Spirit of Laws” มองเตสกิเออร์ (Montesquieu) กล่าวว่า ในกรณีของการเลือกตั้งไม่ว่าจะเป็นการเลือกตั้งในระบอบสาธารณรัฐหรือในระบอบประชาธิปไตย ผู้ลงคะแนนเสียงมีทางเลือกระหว่างการเป็นผู้ปกครองของประเทศกับการเป็นผู้ถูกปกครองของรัฐบาล  จากการกระทำด้วยการลงคะแนนเลือกตั้งนี้ เองประชาชนได้ปฏิบัติการในฐานะเป็นองค์อธิปัตย์(ผู้ปกครอง) โดยทำหน้าที่เป็นนายในการเลือกคนที่จะมาเป็นรัฐบาลของพวกเขา


ประวัติการเลือกตั้ง
การเลือกตั้งถูกนำมาใช้ในประวัติศาสตร์ยุคต้นๆอย่างเช่นในยุคกรีซโบราณและยุคโรมันโบราณ และตลอดช่วงยุคกลางในการเลือกผู้นำต่างๆ อย่างเช่น การเลือกตั้งพระจักรพรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ (the Holy Roman Emperor) และการเลือกตั้งพระสันตะปาปา (Pope) นอกจากนั้นแล้วการเลือกตั้งก็ยังถูกนำมาใช้ในการเลือกองค์ราชาด้วยองค์คณะราชาในประเทศอินเดียโบราณ  ชาติอาหรับโบราณใช้การเลือกตั้งนี้ในการคัดเลือกกาหลิบ (Caliph) อุธมาน (Uthman) อาลี (Ali) ในช่วงยุคกลางของมุสลิม (Rashidun Caliphate) และใช้การเลือกตั้งนี้ในการเลือกกษัตริย์ในราชวงศ์โคปาละของคาบสมุทรเบงกอล การเลือกตั้งในสมัยใหม่ ซึ่งประกอบด้วยการเลือกตั้งเจ้าหน้าที่ของรัฐบาล เริ่มเกิดขึ้นในคริสต์ศตวรรษที่ 17  เมื่อแนวความคิดในเรื่องรัฐบาลแบบมีผู้แทนได้ฝังรากลงในทวีปยุโรปและทวีปอเมริกาเหนือ


สิทธิในการออกเสียงเลือกตั้ง
คำถามเกี่ยวกับสิทธิการออกเสียงเลือกตั้ง (Suffrage) โดยเฉพาะอย่างยิ่งสิทธิการออกเสียงเลือกตั้งของชนกลุ่มน้อยเป็นเรื่องที่ครอบงำอยู่ในประวัติศาสตร์ของการเลือกตั้งมาตลอด พวกที่มีเพศชายซึ่งเป็นกลุ่มครอบงำทางวัฒนธรรมในทวีปยุโรปและทวีปอเมริกาเหนือมักเป็นพวกที่มีสิทธิในการออกเสียงเลือกตั้ง และก็ยังคงเป็นเช่นนั้นในอีกหลายประเทศ ในการเลือกตั้งในประเทศต่างๆในสมัยก่อนอย่างเช่นในสหราชอาณาจักรและสหรัฐอเมริกามักจะถูกครอบงำโดยพวกผู้ชายที่เป็นเจ้าของที่ดินและพวกชนชั้นปกครอง อย่างไรก็ตามในราวปี ค.ศ. 1920 ระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยในยุโรปตะวันตกและในทวีปอเมริกาเหนือได้ให้สิทธิในการออกเสียงเลือกตั้งแก่พวกที่มีเพศชายทุกคน(ยกเว้นเฉพาะประเทศสวิตเซอร์แลนด์) และหลายประเทศได้เริ่มที่จะพิจารณาในการให้สิทธิออกเสียงเลือกตั้งแก่พวกที่มีเพศหญิง  แม้ว่าในทางกฎหมายจะให้สิทธิแก่พวกเพศชายทุกคนแต่ในทางปฏิบัติมักจะมีการตั้งกำแพงทางการเมืองเพื่อป้องกันมิให้ทุกคนได้ไปเลือกตั้ง


ใครบ้างที่ต้องผ่านการเลือกตั้ง
ตำแหน่งในรัฐบาลที่ต้องผ่านการเลือกตั้งนั้นจะแตกต่างกันไปในแต่ละที่แต่ละประเทศ  ในระบอบประชาธิปไตยแบบมีผู้แทนอย่างเช่นในกรณีของสหรัฐอเมริกานั้น  บางตำแหน่งไม่ได้มาโดยผ่านการเลือกตั้งโดยเฉพาะอย่างยิ่งตำแหน่งของผู้ที่ต้องมีทักษะอย่างใดอย่างหนึ่งเป็นการเฉพาะ ยกตัวอย่างเช่นตำแหน่งของของตุลาการปกติจะได้รับการแต่งตั้งยิ่งกว่าจะใช้วิธีเลือกตั้งทั้งนี้เพื่อช่วยปกป้องมิให้เกิดความลำเอียงในการปฏิบัติหน้าที่ แต่ก็มีข้อยกเว้นบ้างในแง่ของการปฏิบัติ  ตัวอย่างคือตุลาการบางตำแหน่งในสหรัฐอเมริกาจะได้รับการเลือกตั้ง ในขณะที่นายพลทหารของนครรัฐเอเธนส์ของกรีซโบราณจะขึ้นสู่ตำแหน่งโดยการเลือกตั้ง

ในบางกรณีอย่างเช่นในระบอบประชาธิปไตยของโซเวียตนั้น อาจจะมีคนกลางระหว่างผู้ลมัครรับเลือกตั้งกับผู้ลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง แต่ในระบอบประชาธิปไตยแบบมีผู้แทนส่วนใหญ่แล้วระดับของการเลือกตั้งโดยอ้อมแบบนี้จะเป็นแบบพิธีรีตองเท่านั้นเอง ยกตัวอย่างเช่น ประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกาได้รับการเลือกตั้งโดยคณะผู้เลือกตั้งที่เรียกว่า Electoral College และในระบบรัฐสภาของสหราชอาณาจักร นายกรัฐมนตรีได้รับเลือกอย่างเป็นทางการจากประมุขแห่งรัฐ  ซึ่งในความเป็นจริงแล้วเป็นผู้ได้รับเลือกจากฝ่ายนิติบัญญัติหรือโดยพรรคการเมือง


การลงประชามติ
การลงประชามติ(Referendum) เป็นเครื่องมือแบบประชาธิปไตยอย่างหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้ง ซึ่งเป็นวิธีที่ผู้ลงคะแนนเสียงลงคะแนนเพื่อยอมรับหรือเพื่อปฏิเสธข้อเสนอเฉพาะเจาะจงอย่างใดอย่างหนึ่ง ซึ่งอาจจะเป็นกฎหมายหรือนโยบายอย่างใดอย่างหนึ่ง  อันมิใช่เรื่องนโยบายทั่วไปหรือผู้สมัครคนใดคนหนึ่งหรือพรรคการเมืองพรรคใดพรรคหนึ่ง การลงประชามติปกติรัฐบาลจะนำมาใช้โดยผ่านทางฝ่ายนิติบัญญัติ แต่ก็มีประเทศที่มีระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยหลายประเทศอนุญาตให้พลเมืองของตนร้องขอให้มีการลงประชามติโดยตรง ซึ่งเรียกวิธีนี้ว่าการริเริ่ม (Initiatives)

การลงประชามติ เป็นระบบที่สอดคล้องและมีความสำคัญในประชาธิปไตยโดยตรง (Direct democracies)  อย่างเช่นที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์   แต่ระบบของสวิสในระดับพื้นฐานแล้วยังคงเป็นแบบประชาธิปไตยโดยอ้อมหรือประชาธิปไตยแบบมีผู้แทน ในประชาธิปไตยแบบโดยตรงส่วนใหญ่นั้น ทุกคนสามารถลงคะแนนเสียงในเรื่องใดก็ได้  เป็นแบบที่มีความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดกับการลงประชามติและอาจกระทำในรูปของการตัดสินใจแบบฉันทามติ (Consensus decision-making)  เป็นแบบเดียวกับที่เคยเป็นมาในระบบกรีกโบราณ คือทุกคนอาจอภิปรายเรื่องใดเรื่อหนึ่งจนกระทั่งสามารถบรรลุถึงฉันทามติได้  การที่จะเกิดฉันทามติขึ้นมาได้นั้นก็หมายถึงว่าจะต้องมีการถกแถลงและอภิปรายกันอย่างยาวนาน  ผลก็คือว่าผู้ที่มีความสนใจจริงๆเท่านั้นถึงจะเข้าร่วมในการอภิปรายและร่วมในการลงคะแนนเสียง  ในระบบที่ว่ามานี้ไม่มีความจำเป็นที่จะกำหนดอายุสำหรับผู้เข้าร่วมอภิปรายเพราะพวกเด็กๆเมื่ออภิปรายไปๆปกติจะเกิดความเบื่อหน่ายไปและเลิกราไปก่อน  แต่ระบบนี้จะเป็นไปได้ก็เฉพาะเมื่อนำไปใช้ในเรื่องเล็กๆน้อยเท่านั้น


สิทธิในการลงคะแนนเสียง
ปัญหาที่ว่าใครคือผู้ที่อาจลงคะแนนเสียงเลือกตั้งได้ก็เป็นประเด็นสำคัญในการเลือกตั้งอีกเหมือนกัน  ซึ่งตามปกติแล้วผู้ที่จะออกเสียงเลือกตั้งนั้นโดยทั่วไปแล้วจะไม่หมายรวมถึงประชากรทั้งหมด ยกตัวอย่างเช่น มีหลายประเทศมีข้อห้ามมิให้คนที่วิกลจริตลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง  และประเทศส่วนใหญ่ก็จะมีบทบัญญัติเกี่ยวกับอายุขั้นต่ำของผู้ที่จะลงคะแนนเสียงเลือกตั้งเอาไว้ด้วย

ในทางประวัติศาสตร์นั้น ก็ยังมีบุคคลกลุ่มอื่นที่ถูกกีดกันมิให้ลงคะแนนเสียงเลือกตั้งด้วย อย่างเช่น ประชาธิปไตยของกรุงเอเธนส์ในสมัยโบราณมิได้อนุญาตให้พลเมืองที่มีเพศหญิง ชาวต่างประเทศ หรือพวกทาสไปลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง  รัฐธรรมนูญดั้งเดิมของสหรัฐอเมริกาก็ปล่อยให้ประเด็นเรื่องสิทธิการเลือกตั้งนี้เป็นเรื่องที่แต่ละรัฐจะพิจารณากันเอาเอง  ซึ่งตามปกติแล้วพลเมืองเพศชายผิวขาวที่เป็นเจ้าของทรัพย์สินเท่านั้นที่มีสิทธิที่จะลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง  เรื่องราวทางประวัติศาสตร์หลายต่อหลายอย่างจะเกี่ยวข้องกับความพยายามที่จะสนับสนุนการมีสิทธิในการลงคะแนนเสียงเลือกตั้งสำหรับกลุ่มต่างๆที่ถูกกีดกันมิให้มีสิทธิในการลงคะแนนเสียงเหล่านี้  กระบวนการเรียกร้องให้สตรีมีสิทธิในการลงคะแนนเสียงเลือกได้ประสบความสำเร็จในการให้สิทธิในการเลือกตั้งแก่บรรดาสตรีในหลายต่อหลายประเทศ  และการเรียกร้องให้มีสิทธิในการเลือกตั้งอย่างเสรีนี้ก็เป็นเป้าหมายสำคัญอย่างหนึ่งในกระบวนการเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิพลเมืองของอเมริกา  การขยายสิทธิในการลงคะแนนเสียงเลือกตั้งให้แก่กลุ่มที่ถูกกีดกันมิให้ได้รับสิทธิ์นี้(อย่างเช่นอดีตอาชญากรผู้ต้องโทษทางอาญา, สมาชิกของชนกลุ่มน้อยบางกลุ่ม ตลอดจนผู้มีฐานะด้อยทางเศรษฐกิจ) ก็ยังคงเป็นเป้าหมายในการกระบวนการเรียกร้องสิทธิของการลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง

สิทธิในการลงคะแนนเสียงเลือกตั้งนี้ปกติจะกำหนดให้แก่พลเมืองของประเทศนั้นๆโดยเฉพาะ  แต่ก็อาจจะมีข้อจำกัดในเรื่องนี้ไว้บ้าง  อย่างไรก็ดีในสหภาพยุโรป (European Union) บุคคลสามารถลงคะแนนเสียงเลือกตั้งเทศบาลได้หากเป็นผู้อยู่ในเขตเทศบาลนั้นและเป็นพลเมืองของสหภาพยุโรป  ทั้งนี้โดยไม่คำนึงว่าบุคคลนั้นจะมีสัญชาติใดก็ได้ทั้งนั้น

ในบางประเทศ การลงคะแนนเสียงเลือกตั้งจะถูกบังคับโดยกฎหมาย  เช่น ผู้มีสิทธิในการลงคะแนนเสียงเลือกตั้งคนใดไม่ไปใช้สิทธิลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง บุคคลผู้นั้นอาจจะได้รับโทษเช่นถูกปรับเป็นต้น

ในประชาธิปไตยแบบมีผู้แทนนั้น จะมีข้อกำหนดเกี่ยวกับการขั้นตอนของการกำหนดตัวบุคคลที่จะเข้าเลือกตั้งในตำแหน่งทางการเมืองนั้นๆ  ในหลายกรณีการกำหนดตัวบุคคลเพื่อสมัครรับเลือกตั้งนั้นจะกระทำผ่านทางกระบวนการเลือกสรรของพรรคการเมืองที่จัดตั้งขึ้นมา

ในระบบที่ไม่มีพรรคการเมืองนั้น มีแนวโน้มที่จะแตกต่างจากระบบที่มีพรรคการเมืองในส่วนที่เกี่ยวกับการกำหนดตัวบุคคลที่จะลงสมัครรับเลือกตั้ง ในประชาธิปไตยแบบตรง(Direct Democracy) และเป็นประชาธิปไตยแบบไม่มีพรรคการเมืองนั้น ผู้มีสิทธิในการออกเสียงเลือกตั้งทุกคนสามารถจะได้รับการเลือกสรรให้เป็นผู้สมัครรับเลือกตั้งได้ แต่ในระบบการปกครองที่มีผู้แทนในแบบที่ไม่มีพรรคการเมืองนั้น จะไม่มีการกำหนดตัวผู้สมัครรับเลือกตั้ง ตลอดจนไม่มีการรณรงค์การเลือกตั้ง  และการลงคะแนนเสียงเลือกตั้งเป็นต้นแต่อย่างใด  ผู้ออกเสียงเลือกตั้งมีอิสระที่จะเลือกผู้สมัครรับเลือกตั้งคนใดก็ได้ในเวลาลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง  จะมีข้อกำหนดเป็นข้อยกเว้นก็แต่ในเรื่องอายุขั้นต่ำของผู้ลงคะแนนเสียงงเลือกตั้งเป็นต้น ในกรณีดังกล่าวข้างต้น  ผู้ที่ลงสมัครรับเลือกตั้งจะต้องเป็นผู้มีความใกล้ชิดกับผู้ลงคะแนนเสียงเลือกตั้งทุกคน  และระบบดังกล่าวนี้ก็อาจจะมีการใช้การเลือกตั้งโดยอ้อมในระดับต่างๆด้วยก็ได้

แต่ในระบบที่มีพรรคการเมืองนั้น ในบางประเทศ  อาจมีสมาชิกของพรรคการเมืองเพียงเพียงพรรคเดียวถูกกำหนดตัวให้เป็นผู้สมัครรับเลือกตั้ง ก็ได้ หรือผู้มีสิทธิ์สามารถถูกกำหนดโดยการแข่งขันกันจนทำให้สามารถมีชื่ออยู่ในบัตรเลือกตั้งแบบนี้ก็ได้


การรณรงค์หาเสียงทางการเมือง
เมื่อประกาศวันให้มีการเลือกตั้งแล้ว บรรดานักการเมืองและผู้สนับสนุนก็จะพยายามแข่งขันนำเสนอนโยบายของตนต่อผู้ออกเสียงเลือกตั้งในเขตเลือกตั้งของตน ซึ่งเรียกกันในภาษาการเมืองว่าการรณรงค์หาเสียงทางการเมือง พวกผู้สนับสนุนในการรณรงค์หาเสียงทางการเมืองอาจเป็นพวกที่ถูกจัดตั้งอย่างเป็นทางการหรือพวกที่มีความผูกพันกันอย่างหลวมๆกับพรรคการเมืองมาช่วยโฆษณาประชาสัมพันธ์ในการรณรงค์หาเสียง และเป็นเรื่องปกติสำหรับนักรัฐสาสตร์ที่จะทำนายผลการเลือกตั้งโดยวิธีทำนายทางการเมือง (Political Forecasting)


การโกงการเลือกตั้ง
ในหลายประเทศที่มีความอ่อนแอทางด้านนิติรัฐนิติธรรม (Rule of law) เหตุผลสามัญส่วนใหญ่ที่การเลือกตั้งไม่เป็นไปตามมาตรฐานสากลในเรื่อง อิสระและยุติธรรมนั้นก็เนื่องมาจากการแทรกแซงจากรัฐบาลที่อยู่ในอำนาจ พวกเผด็จการอาจใช้อำนาจของฝ่ายบริหาร (ตำรวจ, กฎอัยการศึก, การเซ็นเซอร์สื่อ, การแทรกแซงกลไกการเลือกตั้ง เป็นต้น) เพื่อให้ตนสามารถดำรงคงอยู่ในอำนาจต่อไปแม้ว่ามติมหาชนจะให้ถอดถอนออกจากอำนาจแล้วก็ตาม  ข้างฝ่ายสมาชิกนิติบัญญัติบางคนก็อาจใช้อำนาจของเสียงส่วนใหญ่ในรัฐสภาในการออกกฎหมายแก้ไขกลไกในการเลือกตั้งซึ่งรวมทั้งในเรื่องของผู้มีสิทธิในการเลือกตั้งและเขตการเลือกตั้งเป็นต้นอันจะเป็นประโยชน์ป้องกันสมาชิกสภาฝ่ายตรงข้ามให้เสียเปรียบฝ่ายตนในการเลือกตั้งอย่างนี้เป็นต้น

ฝ่ายหน่วยงานที่ไม่เกี่ยวข้องกับรัฐบาลก็ยังสามารถแทรกแซงการเลือกตั้งได้โดยการใช้กำลังกายข่มขู่บ้าง ใช้วาจาข่มขู่ หรือใช้กลโกงต่างๆบ้าง  ซึ่งจะสามารถส่งผลให้มีการลงคะแนนเสียงที่ไม่เหมาะไม่ควรหรือให้นับคะแนนผิดพลาดเป็นต้น ในประเทศที่มีความเข้มแข็งในทางลงคะแนนเสียงในแบบอิสระและบริสุทธิ์ยุติธรรมนั้น เขาจะมีระบบการตรวจจับเพื่อลดการโกงการเลือกตั้งให้มีน้อยที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ 


บทบาทของการเลือกตั้ง
ในระบอบการเมืองและการปกครองแบบเสรีประชาธิปไตย  การเลือกตั้งเป็นสิ่งสำคัญมาก  และมีบทบาทสำคัญดังนี้:

1.บทบาทในการระดมเลือกสรรนักการเมือง (Recruiting Politicians)
การเลือกตั้งเป็นช่องทางสำหรับการเลือกตัวแทนทางสาธารณะหรือทางการเมือง ทั้งนี้โดยกระบวนการเริ่มต้นตั้งแต่การเข้าเป็นสมาชิกพรรค การเสนอตัวต่อพรรค จวบจนพรรคตัดสินใจส่งลงสมัครรับเลือกตั้งเพื่อว่าในขั้นสุดท้ายให้ประชาชนตัดสินใจเลือก

2.บทบาทในการสร้างรัฐบาล (Making Government)
ในระบอบการเมืองและการปกตรองแบบประธานาธิบดี (Presidential System)อย่างเช่นที่สหรัฐอเมริกา  ประธานาธิบดีเป็นผู้เลือกผู้บริหารคือรัฐบาลโดยตรง การเลือกตั้งมีความชัดเจนในแง่ของการเลือกผู้ที่จะเป็นรัฐบาลบริหารประเทศ ส่วนในระบอบการเมืองและการปกครองแบบรัฐสภา (Parliamentary System)นั้น รัฐที่ใช้รูปแบบการเลือกตั้งแบบสัดส่วน(Proportional Representation System) รัฐบาลมักจะเป็นรัฐบาลผสม(Coalition Government) ซึ่งเป็นการตกลงกันในภายหลังการเลือกตั้ง ความชัดเจนของการเลือกตั้งในแง่ของการสร้างรัฐบาลจึงต่างจากระบอบประธานาธิบดี

3.บทบาทในการมีอิทธิพลต่อนโยบาย (Influencing Policy)
การเลือกตั้งถือว่าเป็นโอกาสในการสะท้อนความคิดความเห็นของประชาชนที่มีต่อนโยบายและการดำเนินงานบริหารประเทศของรัฐบาลชุดก่อน และนโยบายของพรรคอื่นๆที่เสนอตัวมาแข่งกับพรรครัฐบาล ซึ่งก็คือการมีอิทธิพลต่อนโยบายนั่นเอง

4. บทบาทในการให้การศึกษาการเรียนรู้ทางการเมืองแก่ผู้มีสิทธิการเลือกตั้ง(Education Voters)
ในการณรงค์หาเสียงเลือกตั้งของพรรคการเมืองนั้น นับว่าเป็นช่องทางในการนำเสนอข้อมูล ข่าวสารเกี่ยวกับพรรค นโยบายพรรค  ตัวผู้สมัครของพรรค ผลงานของรัฐบาลที่ผ่านมา  ระบบการเมือง ตลอดจนประเด็นปัญหาต่างๆที่ส่งผลต่อท่าทีของพรรครัฐบาลและพรรคการเมืองอื่นๆ อันจะช่วยให้ประชาชนเกิดการเรียนรู้และการเข้าใจการเมืองการปกครองเพิ่มยิ่งขึ้น

5. บทบาทในการสร้างความชอบธรรม  (Building Legitimacy)
สำหรับในประเทศที่มีระบอบการปกครองแบบเผด็จการนั้น  ที่มีการจัดการเลือกตั้งทั้งๆที่ไม่เป็นไปตามหลักประชาธิปไตย ก็เพื่อสร้างความชอบธรรมทางการเมืองให้ผู้คนทั้งในประเทศและต่างประเทศยอมรับการมีอำนาจบริหารประเทศของรัฐบาล ขณะที่ประเทศที่มีการปกครองตามระบอบประชาธิปไตย ก็สามารถอ้างได้ว่าเป็นรัฐบาลที่ได้รับอาณัติจากประชาชนให้บริหารประเทศได้เพราะได้ผ่านการเลือกตั้งมาแล้วนั่นเอง

-------------------------
คำถามท้ายบท
1. จงเล่าประวัติของการเลือกตั้งมาแต่พอสังเขป

2. การเลือกตั้งมีบทบาทอย่างไรบ้าง

3. An election is a formal decision-making process by which a population chooses an individual to hold public office. Elections have been the usual mechanism by which modern representative democracy operates since the 17th century.

3.1 จงแปลประโยคภาษาอังกฤษเกี่ยวกับเรื่องการเลือกตั้งเป็นภาษาไทยให้ได้ความสละสลวย

3.2 ให้ใช้ข้อมูลจากที่แปลมาเป็นตัวช่วยตอบคำถามว่า การเลือกตั้งคืออะไร





ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม