สัปดาห์ที่ 5
ลักษณะทั่วไปและโครงสร้างของพรรคการเมือง
สัปดาห์นี้จะได้นำเสนอเรื่องพรรคการเมืองต่อไป โดยจะได้กล่าวถึง 2 ประเด็นย่อยคือ:
1.ลักษณะทั่วไปของพรรคการเมือง
2.โครงสร้างของพรรคกาเมือง
-----------------------------
ลักษณะทั่วไปของพรรคการเมือง
ลักษณะทั่วไปของพรรคการเมืองที่จะนำเสนอต่อไปนี้เป็นการแบ่งตามแนวคิดของศาสตราจารย์มอริช ดูแวร์เช่
ศาสตราจารย์มอริช ดูแวร์เช่(Maurich Duverger) เป็นผู้เชี่ยวชาญทางด้านพรรคการเมืองชาวฝรั่งเศส ได้แบ่งพรรคการเมืองออกเป็น 3 แบบ คือ พรรคดั้งเดิมหรือพรรคชนชั้น พรรคมวลชน และพรรคกึ่งมวลชนกึ่งชนชั้น หรือแบบผสม
1.พรรคชนชั้น(Cadre Party)หรือพรรคดั้งเดิม(Traditional Party) เป็นลักษณะของกลุ่มการเมืองของชนชั้นสูง ที่บุคคลรวมกลุ่มกันโดยมีบุคคลคนเดียวมีอิทธิพลเหนือทุกคน มักจะเป็นกลุ่มขุนนาง อำมาตย์ที่มีอำนาจในราชสำนักในยุโรปโดยมีแม่ทัพเป็นผู้นำ ดังนั้นพรรคชนชั้นเป็นพรรคการเมืองที่ประกอบด้วยสมาชิกที่มีฐานะดีในสังคม มีชื่อเสียงและมีอิทธิพลในทางเศรษฐกิจ
1.1 พรรคชนชั้นแบบยุโรป
เป็นพรรคการเมืองที่เกิดขึ้นในคริสต์ศตวรรษที่ 19 ที่ถือว่าเป็นพรรคต้นแบบของพรรคชนชั้นได้แก่
-พรรคอนุรักษ์นิยม(Conservative Party)
-พรรคเสรีนิยม(Liberal Party)
-พรรคก้าวหน้า(Radical Party)
1.2 พรรคแบบชนชั้นแบบอเมริกัน
พรรคการเมืองของสหรัฐอเมริกา ได้ก่อกำเนิดขึ้นหลังจากเสร็จสิ้นสงครามกู้เอกราชจากอังกฤษในปี ค.ศ. 1785 ลักษณะก็คือลักษณะของพรรคชนชั้นเหมือนในยุโรป คือมีการรวมอำนาจไว้กับส่วนกลาง ต้องการสมาชิกจำนวนมากแต่ต้อเป็นบุคคลที่มีชื่อเสียง โครงสร้างของพรรคหลวม มีภารกิจทางการเมืองเดียวคือการเลือกตั้งสมาชิกรัฐสภา โดยการส่งสมาชิกของพรรคเข้าสมัครรับเลือกตั้ง
นอกจากลักษณะเหมือนกับพรรคชนชั้นในยุโรปแล้ว สิ่งที่เป็นพิเศษของพรรคชนชั้นแบบอเมริกัน ในตอนต้นคริสต์ศตวรรษที่ /20 ก็คือ ได้มีการกำหนด ระบบการเลือกตั้งขั้นต้น(System of Primary Election) หรือการทดสอบคะแนนเสียง(Pre-voting) ซึ่งหมายความว่าเปิดโอกาสให้ประชาชนทั่วไปที่สนใจในพรรคการเมืองใดๆได้มีโอกาสเข้าร่วมเสนอชื่อ และลงคะแนนหยั่งเสียงแก่ผู้สมัครเข้ารับเลือกตั้งในนามของพรรคใดพรรคใดพรรคหนึ่ง
ความจำเป็นในการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้ง ทำให้พรรคการเมืองอเมริกันพัฒนาพรรคให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น ระบบนี้คือ การจัดองค์การพรรคที่ถาวรที่เริ่มจาก องค์การระดับเขตเลือกตั้งย่อยที่เรียกว่า ปรีซินต์(Precints) คือเป็นเขตเลือกตั้งที่เล็กที่สุด มีผู้ออกเสียงประมาณ 400-500 คนไปจนถึงระดับชาติ
ในขณะนี้พรรคชนชั้นกลางที่เจริญเติบโตในสหรัฐอเมริกามีอยู่ 2 พรรคใหญ่ เป็นตัวแทนสองอุดมการณ์ของอเมริกาที่สลับกันครองอำนาจทางการเมือง คือ
-พรรคแนวทางเสรีนิยม คือพรรค Democrat Party)
-พรรคแนวทางอนุรักษ์นิยม คือพรรค Republican Party
2.พรรคมวลชน
พรรคมวลชน (Mass-Based Party) ถือกำเนิดขึ้นในปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19 โดยกลุ่มสังคมนิยม หรือขบวนการสังคมนิยม(Socialist Movements) จากกลุ่มขบวนการได้พัฒนามาเป็นพรรคการเมืองชื่อว่าพรรคสังคมนิยม เป็นพรรคที่เน้นและให้ความสำคัญแก่มวลชน(Mass)นอกจากพรรคสังคมนิยมแล้ว ยังมีพรรคการเมืองต่างอุดมการณ์พยายามเลียนแบบ เช่น พรรคคอมมิวนิสต์ พรรคฟาสซิสต์ พรรคชาตินิยม และพรรคคริสเตียนประชาธิปไตย พรรคมวลชนเป็นลักษณะของพรรคการเมืองที่เน้นปริมาณของสมาชิกเป็นเรื่องหลัก และคุณภาพของสมาชิกเป็นเรื่องรอง รูปแบบของพรรคมวลชนมีอยู่ 3 รูปแบบ คือ แบบสังคมนิยม แบบคอมมิวนิสต์ และแบบฟาสซิสต์
2.1พรรคมวลชนแบบสังคมนิยม
พรรคมวลชนแบบสังคมนิยม(Socialist Mass-Based Party) มุ่งหมายที่จะรวบรวมสมาชิก แสวงหาสมาชิกให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ จุดมุ่งหมายสำคัญอีกประการหนึ่งของพรรคก็คือ การจัดหาทุนช่วยเหลือแก่ผู้สมัครรับเลือกตั้ง ซึ่งเป็นคนชั้นผู้ใช้แรงงานและมีอึดมการณ์เปลี่ยนแปลงสังคม ซึ่งบุคคลเหล่านี้ไม่สามารถที่จะขอความช่วยเหลือสนับสนุนทางการเงินจากบรรดานายทุนทั้งหลาย เช่น นายธนาคาร นักอุตสาหกรรม เจ้าของที่ดิน
ในเรื่องของสมาชิก พรรคสังคมนิยมปัจจุบันได้ให้ความสำคัญแก่มวลชนมาก การรับสมัครสมาชิกกระทำโดยตรง และเปิดสู่สาธารณะ ในลักษณะที่ถาวร เมื่อสมัครเข้าเป็นสมาชิกแล้ว ก็ต้องจ่ายค่าบำรุงเป็นประจำ การคัดเลือกตัวแทนของพรรคในการเลือกตั้งทั่วไป จะต้องผ่านความเห็นชอบจากองค์กรใหญ่เสียก่อน
ในการศึกษาทางการนั้น พรรคสังคมนิยม เน้นความสำคัญของการศึกษาทางการเมือง การให้ความรู้ทางการเมืองแก่สมาชิกและประชาชนที่สนใจทั่วไป
2.2 พรรคมวลชนแบบคอมมิวนิสต์
พรรคมวลชนแบบคอมมิวนิสต์(Communist Mass-Based Party) มีกำเนิดพรรคแรกในยุโรปตะวันตก เป็นผลมาจากความขัดแย้งภายในพรรคสังคมนิยม เมื่อปี ค.ศ. 1920 ในเรื่องแนวทางไปสู่สังคมนิยม ฝ่ายแรกเห็นว่าการเป็นสังคมกระทำได้โดยทางสันติและค่อยเป็นค่อยไป ฝ่ายหลังเห็นว่าการเป็นสังคมนิยมจะต้องใช้วิธีการรุนแรง ฝ่ายแรกยังคงอยู่ในพรรคประเภทสังคมนิยม พวกหลังแยกตัวออกมาเป็นพวกคอมมิวนิสต์
2.3 พรรคมวลชนแบบฟัสซิสต์
พรรคมวลชนแบบฟัสซิสต์(Fascist Mass-Based Party) คือพรรคการเมืองที่มีอุดมการณ์ชาตินิยมขวาสุด ลักษณะการจัดองค์การพรรคก็ใช้วิธีเดียวกับพรรคคอมมิวนิสต์ การจัดโครงสร้างของพรรคนี้มีลักษณะเผด็จการ มีความเข้มงวด รวมอำนาจไว้ที่ส่วนกลาง ผู้นำพรรคมีความสำคัญอย่างยิ่งยวด จัดองค์การพรรคแบบทหารหรือกองทัพ เน้นในเรื่องวินัยของสมาชิกรวมทั้งปริมาณของสมาชิก สมาชิกของพรรส่วนใหญ่เป็นส่วนหนึ่งของหน่วยหน้า หรือเรียกว่า หน่วยจู่โจมซึ่งติดอาวุธ และยังมีหน่วยสำรองไว้อีก ผลจากการพัฒนาพรรคฟัสซิสต์ทำให้เกิดรูปแบบของพรรค/2 แบบ แบบแรกปรากฏอยู่ในสังคมที่มีความก้าวหน้าทางวิชาการ เช่น ประเทศเยอรมนี สำหรับแบบที่สอง ปรากฏอยู่ในประเทศที่มีความเจริญในทางวิชาการน้อย เช่น ประเทศสเปน และโปรตุเกส
3.พรรคกึ่งมวลชน กึ่งชนชั้น หรือแบบผสม (Mixed Party)
การที่พรรคการเมืองมีองค์การพรรคแบบผสม หมายถึงการผสมระหว่างการผสมระหว่างการจัดองค์การแบบชนชั้นและแบบมวลชน(Intermediate) ซึ่งมักจะปรากฏอยู่ในพรรคการเมืองที่เกิดขึ้นโดยทางอ้อม(Indirect Parties) และในพรรคการเมืองในประเทศกำลังพัฒนาทั้งหลาย มีลักษณะใกล้เคียงกับพรรคมวลชนมากกว่าพรรคชนชั้น
3.1 พรรคที่เกิดขึ้นโดยทางอ้อม
พรรคที่เกิดขึ้นโดยทางอ้อม หมายถึงพรรคการเมืองที่ไม่มีการรับสมาชิกโยตรง แต่มีสมาชิกที่เป็นองค์การผลประโยชน์ต่างๆ เช่น สหพันธ์ สหกรณ์ องค์การ สมาคม ชมรม ซึ่งคณะกรรมการระดับต่างๆของพรรคนี้ จะประกอบด้วยผู้แทนที่มาจากองค์การดังกล่าว
พรรคแรงงานอังกฤษ(The British Labour Party)
ก่อนปี ค.ศ. 1900 พรรคแรงงานอังกฤษประกอบด้วยสมาชิกที่เป็นองค์การ พอหลังปี ค.ศ. 1900 พรรคนี้ก็ยอมรับสมาชิกอีกประเภทหนึ่งคือ สมาชิกบุคคล รูปแบบของพรรคแรงงานอังกฤษก่อนปี ค.ศ. 1900 เป็นที่นิยมในเวลาต่อมา โดยมีพรรคสังคมนิยมหลายประเทศได้นำไปปรับปรุงให้เข้ากับสภาพของสังคมนั้น
ในส่วนของผู้นำ เปลี่ยนระบบซึ่งแต่เดิมยึดถือเอาความมีชื่อเสียง ความสำคัญในตัวบุคคล เพื่อให้ดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรค มาเป็นการให้ความสำคัญแก่คณะกรรมการ คณะกรรมการนี้ประกอบด้วยผู้นำของหน่วยงานต่างๆ เป็นตัวแทนทางการของหน่วยงานของตน พรรคโดยทางอ้อมนี้มีสมาชิกมากมาย สมาชิกส่วนใหญ่จึงเป็นสมาชิกโดยทางอ้อม การเป็นสมาชิกของผู้สนใจก็เป็นการผ่านองค์การที่ตนสังกัดอยู่ จึงเป็นพรรคการเมืองที่มีลักษณะคาบเกี่ยวระหว่างพรรคชนชั้นสูงกับพรรคมวลชน
3.2. พรรคการเมืองในประเทศกำลังพัฒนา
ในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สอง พรรคการเมืองในประเทศกำลังพัฒนาได้มีการพัฒนาและเจริญเติบโตอย่างมากมาย แม้ว่าในบางลักษณะพรรคการเมืองเหล่านี้ก็ไม่ได้แตกต่างในขั้นพื้นฐานไปจากพรรคการเมืองในยุโรปตะวันตก และในอเมริกาเหนือ สำหรับพรรคคอมมิวนิสต์ในจีน ในเวียดนาม ในลาว ในคิวบา ในเกาหลีเหนือ ก็ไม่ได้แตกต่างในขั้นพื้นฐานไปจากคอมมิวนิสต์รัสเซียเท่าใดนัก พรรคการเมืองในแอฟริกามีลักษณะเฉพาะและคล้ายคลึงกันกับพรรคชนชั้นมากกว่าพรรคมวลชน โดยให้ความสำคัญแก่กลุ่มผู้นำมากกว่ามวลสมาชิก สรุปได้ว่าในประเทศด้อยพัฒนาลักษณะโครงสร้างของพรรคการเมืองทั้งที่เป็นอนุรักษ์นิยมและเสรีนิยมนั้น มีพื้นฐานมาจากกลุ่มผู้มีชื่อเสียงและผู้มีอิทธิพลเพียงไม่กี่คน ส่วนพรรคมวลชนถึงแม้จะเน้นปริมาณแต่ก็ให้ความสำคัญสมาชิกเป็นสำคัญด้วยเช่นกัน
พรรคการเมืองในประเทศกำลังพัฒนา เกิดขึ้นมาจากสาเหตุ 2 ประการ
1.อิทธิพลที่ได้จากระบบรัฐสภาและระบบประธานาธิบดีของเจ้าอาณานิคมเดิม ที่มาจากยุโรปและอเมริกา
2.ในทวีปเอเชียและแอฟริกา ขบวนการชาตินิยมต่อสู้จักรวรรดินิยม เป็นผลให้เกิดพรรคการเมืองแนวทางชาตินิยม(The Nationalist Parties) ขึ้นมา ภารกิจสำคัญของพรรค ก็คือ ระดมพลเมืองให้สนับสนุนการต่อสู้และต่อต้านเจ้าของอาณานิคม เพื่อความเป็นเอกราชในทุกๆด้าน โดยเฉพาะทางการเมือง ตัวอย่างพรรคการเมืองเช่นว่านี้คือ
-พรรคคองเกรสของอินเดีย
-พรรคสมัชชาประชาชนของกานา
-พรรคพันธมิตรมาเลเซีย
โครงสร้างของพรรคการเมือง
โครงสร้างของพรรคการเมือง มี 2 รูปแบบ คือ
1. โครงสร้างโดยตรง(Direct Structure)
โครงสร้างโดยตรง หมายถึงว่า พรรคการเมืองนั้นมีโครงสร้างหรือส่วนประกอบเกิดขึ้นโดยทางตรง ส่วนประกอบนี้หมายถึงสมาชิกที่เป็นบุคคลธรรมดา หรือเอกชน ปัเจกชน ที่เริ่มต้นโดยการสมัครเข้าเป็นสมาชิกตามระเบียบและวิธีการที่พรรคนั้นๆได้กำหนดไว้ เมื่อพรรคพิจารณาใบสมัครและเห็นควรควรรับเป็นสมาชิก บุคคลนั้นก็มีสิทธิและหน้าที่ในฐานะสมาชิกของพรรคนั้นโดยสมบูรณ์
2. โครงสร้างโดยอ้อม(Indirect Structure)
พรรคการเมืองมีโครงสร้างโดยอ้อม หมายถึงมีส่วนประกอบ(สมาชิก) เกิดขึ้นโดยทางอ้อม คือบุคคลที่ต้องการเป็นสมาชิกของพรรคนั้น จะติดต่อสมัครเป็นสมาชิกโดยตรงเหมือนพรรคโดยตรงไม่ได้ ลักษณะของพรรคการเมืองชนิดนี้ ก็คือ เป็นพรรคที่ประกอบด้วยองค์การ สมาคม สโมสร ชมรมต่างๆ เป็นกล่มทางเศรษฐกิจ กลุ่มวัฒนธรรม กลุ่มทางสังคม
โครงสร้างโดยทางอ้อม เป็นลักษณะของพรรคแรงงานอังกฤษ(The British Labour Party) เป็นพรรคเกิดจากการรวมตัวกันระหว่างสหภาพการค้า สมาคมสหกรณ์ สมาคมมิตรภาพ กลุ่มปัญญาชน องค์การกุศลสงเคราะห์ต่างๆ การจัดองค์การพรรคค่อนข้างยุ่งยากซับซ้อน เพราะประกอยด้วยองค์การอิสระจำนวนมากที่มาร่วมเป็นพันธมิตร เพื่อวัตถุประสงค์ทางการเมือง
พรรคการเมืองโครงสร้างโดยอ้อมแบ่งเป็น 3 แบบ คือ
1 พรรคสังคมนิยม(Socialist Parties) ส่วนสำคัญของพรรค ได้แก่ สหบาลกรรมกร สหกรณ์แรงงาน สมาคมสงเคราะห์แรงงาน พรรคนี้อยู่ในฐานะของชนชั้นในสังคมชั้นหนึ่ง โโยเฉพาะชนชั้นผู้ใช้แรงงาน
2.พรรคคาทอลิก(Catholic Parties) เป็นพรรคซึ่งประกอบด้วยสหพันธ์สหบาล และสหพันธ์กรรมกรที่ไปรวมกันกับบรรดาสมาคมชาวไร่ ชาวนา บรรดาหอการค้าและสมาคมนักอุตสาหกรรม หมายความว่า เป็นพรรคการเมืองที่ได้รวมเอาบรรดาชนชั้นในสังคมที่แตกต่างกันมาไว้ด้วยกัน โดยที่เอกภาพของแต่ละกลุ่มที่กล่าวมาก็ไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม
3.พรรคชาวไร่ชาวนา (Agrarian Parties) เกิดจากการรวมตัวกันของบรรดาสหพันธ์ และสหภาพของชาวนาชาวไร่ คือผู้ใช้แรงงานด้านเกษตรกรรมเช่นเดียวกับการวมตัวของกรรมกรในพรรคแรงงาน แต่การรวมตัวเป็นพรรคการเมืองของชาวไร่ชาวเกษตรกรไม่เข้มแข็งเหมือนกับกรรมกรภาคอุตสาหกรรม
---------------------------
คำถามท้ายบท
1.พรรคชนชั้นมีข้อแตกต่างจากพรรคมวลชนอย่างไร ให้อธิบายแต่สังเขป
2.จงบอกถึงข้อแตกต่างระหว่างพรรคการเมืองที่มีโครงสร้างโดยตรงกับพรรคการเมืองที่มีโครงสร้างโดยอ้อม
3. “ Cadre parties, which developed in Europe and the United States in the 19th century, are dominated by small group of politically active individuals. They typically based their support on a relatively small segment of the population.”
3.1 จงแปลประโยคภาษาอังกฤษข้างต้นเป็นภาษาไทยให้ได้ความที่สละสลวย
3.2 จงบอกด้วยว่า พรรคชนชั้น(Cadre Parties) ที่พัฒนาในยุโรปและสหรัฐอเมริกามีลักษณะเป็นอย่างไรบ้าง
ลบกวนนำเชิงอรรดมาด้วยนะครับเพื่อความดวกในการทำงานของนิสิตนักศึกษาทั่วไป
ตอบลบอันนี้พี่เขียนเองไหมครับคือผมสับสนเพราะว่ามีติวเตอร์ที่นึงนำบทความไปเป็นคำตอบแล้วนำมาทำเฉลยว่าเป็นลิขสิทธิของเข้าห้ามเผยแผ่ผมเลยสับสนในคำตอบหลายๆอย่างคำเปะทุกคำเลยไม่รู้ว่าจะเชื่ออันไหนดี
ตอบลบ