สัปดาห์ที่ 6
สมาชิกพรรคการเมือง
ในสัปดาห์นี้จะได้นำเสนอเรื่องของพรรคการเมืองในแง่มุมใหม่ต่อไปคือเรื่อง “สมาชิกพรรคการเมือง” ทั้งโดยมีประเด็นแตกออกไปดังนี้คือ:
1.ความหมายของสมาชิกพรรคการเมือง
2.ประเภทของผู้เข้าร่วมในกิจกรรมของพรรคการเมือง
3.สมาชิกของพรรคการเมืองไทย
4.พรรคที่มีลักษณะเผด็จการและไม่เป็นเผด็จการ
---------------------
ความหมายของสมาชิกพรรค
สมาชิกในสภา(Intra-parliamentary) หมายถึง สมาชิกพรรคการเมืองที่ได้รับเลือกเป็นสมาชิกรัฐสภา หรือสมาชิกของสภานิติบัญญัติ ซึ่งมักจะมีศักดิ์ศรีเหนือสมาชิกพรรคที่ไม่ได้รับเลือกตั้ง หรือสมาชิกพรรคธรรมดาทั่วๆไป
สมาชิกนอกสภา (Extra-parliamentary) หมายถึง สมาชิกพรรคการเมืองซึ่งมีสิทธิและหน้าที่ตามที่ได้กำหนดในข้อกำหนดของพรรคการเมือง ซึ่งหมายถึงทั้งสมาชิกพรรคธรรมดาหรือสมาชิกบุคคลและสมาชิกสมทบ และยังรวมไปถึงสมาชิกพรรคที่เป็นสมาชิกรัฐสภาอีกด้วย
คำว่า สมาชิก(Members) กับผู้เข้าร่วม(Adherents) เป็นคำที่มีความหมายตรงกัน ส่วนคำว่าผู้เห็นใจ(Sympathizers) หมายถึงผู้ที่อยู่นอกพรรค แต่ได้ให้ความช่วยเหลือแก่พรรคเป็นครั้งคราว เป็นผู้ที่เห็นด้วยกับอุดมการณ์ของพรรค แต่ไม่ได้สมัครเข้าเป็นสมาชิกอย่างถาวร
ประเภทของพรรคการเมือง
พรรคการเมืองแบ่งเป็น 2 ประเภท คือ พรรคมวลชน และ พรรคชนชั้น
1.พรรคมวลชน
พรรคมวลชน(Mass-Based Parties)เป็นพรรคการเมืองโดยตรง(Direct Parties) จะประกอบด้วยสมาชิกประเภทเดียวกันคือ สมาชิกบุคคล ซึ่งเมื่อได้เข้าร่วมในพรรคแล้ว ผู้เข้าร่วมก็จะได้รับการศึกษาในทางการเมือง เนื่องจากสมาชิกส่วนใหญ่เป็นผู้ใช้แรงงาน เช่นกรณีพรรคสังคมนิยมในยุโรปยุคเริ่มต้น
2.พรรคชนชั้น
พรรคชนชั้น(Cadre Parties)หรือพรรคดั้งเดิม(Traditional Parties)นั้น พื้นฐานของพรรคอยู่ที่คณะกรรมการหรือคอคัส มีโครงสร้างที่หลวม กระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น มีลักษณะของพรรคเชี่ยวชาญเฉพาะ โดยเฉพาะในเรื่องของการหาเสียงเลือกตั้ง พรรคชนชั้นมีจำนวนสมาชิกเข้าร่วมไม่มาก พรรคนี้เป็นที่รวมของชนชั้นสูง เป็นผู้มีเกียรติ มีอิทธิพลในสังคม ตั้งขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์หลักคือการเลือกตั้ง ใช้ความมีชื่อเสียงและอิทธิพลโน้มน้าวและสนับสนุนการเลือกตั้ง สมาชิกที่เป็นผู้เชี่ยวชาญก็ใช้ความสามรถในด้านเทคนิคของการหาเสียงโน้มน้าวชักจูงผู้ลงคะแนนเสียง สมาชิกที่มีทรัพย์สินก็ให้การสนับสนุนทางด้านการเงิน เป็นพรรคการเมืองที่คำนึงถึงคุณภาพของสมาชิกมาก
การเข้าเป็นสมาชิกพรรค
ในการเข้าเป็นสมาชิกของพรรคการเมืองนั้น พิจารณาได้ 2 ลักษณะ คือการเข้าร่วมอย่างไม่มีเงื่อนไข และการเข้าร่วมอย่างไม่มีเงื่อนไข และจะพิจารณาการเข้าร่วมเป็นสมาชิกในพรรคการเมืองของไทยในอดีตด้วย
1.การเข้าร่วมอย่างไม่มีเงื่อนไข
การเข้าร่วมพรรคการเมืองอย่างอิสระไม่มีเงื่อนไขไม่มีระเบียบการใดๆทั้งสิ้น ซึ่งปรากฏอยู่ในพรรคการเมือองชนชั้นหรือดั้งเดิม การเข้าเป็นสมาชิกไม่ต้องใช้ระเบียบการไม่มีกฎเกณฑ์ การจ่ายค่าสมัครหรือค่าบำรุงไม่ต้องกระทำเป็นประจำ แต่กระทำในบางโอกาส
2.การเข้าร่วมอย่างมีเงื่อนไข
ในพรรคมวลชนตรงกันข้าม จะต้องประกอบด้วยขั้นตอนที่สำคัญ คือ การลงนามสมัครเข้าเป็นสมาชิก การจ่ายค่าบำรุงพรรค รวมทั้งการยอมรับเงื่อนไขและระเบียบต่างๆของพรรค
การเข้าเป็นสมาชิกของพรรคการเมืองของไทย
โดยทั่วไปแล้วการกำหนดคุณสมบัติเกี่ยวกับสมาชิกของพรรคการเมืองแต่ละพรรค จะปรากฏอยู่ในข้อบังคับของพรรค เช่น ที่ปรากฏในพรรคการเมืองของไทยในอดีต 3 พรรค
ก.พรรคชาติสังคมประชาธิปไตย(National Social Democratic Party) ซึ่งก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ. 2493 ได้กำหนดคุณสมบัติของสมาชิกพรรคไว้ว่า จะต้องเป็นผู้มีคุณสมบัติตามกฎหมายเลือกตั้ง ต้องมีอายุเกิน 20 ปี อ่นออกเขียนได้ ไม่วิกลจริต ไม่เคยถูกศาลพิพากษาจำคุก การรับเข้าเป็นสมาชิกพรรคนั้น ไม่ว่าจะเป็นสมาชิกสามัญหรือสมาชิกสมทบ จะต้องยื่นใบสมัครตามแบบที่กำหนด เมื่อมติที่ประชุมให้รับไว้และประกาศรับ ณ สำนักงานพรรค 15 วัน และไม่มีผู้ใดคัดค้าน
ข. พรรคสหประชาไทย(United Thai People’s Party) ก่อตั้งเมื่อ พ.ศ. /2511 ได้กำหนดคุณสมบัติของผผู้จะสมัครเข้าเป็นสมาชิกไว้ว่า ได้แก่บุคคลสัญชาติไทย เห็นชอบกับนโยบายของพรรค ยอมเสียค่าบำรุงพรรคตามกำหนด
ค.พรรคประชาธิปัตย์(Democrat Party) ก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ. 2489 ได้กำหนดคุณสมบัติของผู้ที่ต้องการเป็นสมาชิก ตามข้อบังคับ พ.ศ. 2522 ไว้ว่า ผู้ที่มีคุณสมบัติตามกฎหมายว่าด้วยพรรคการเมืองจะมีสิทธิ์สมัครเป็นสมาชิกได้
ง.การเป็นสมาชิกตามพระราชบัญญัติพรรคการเมืองไทยปัจจุบัน ตามกฎหมายพรรคการเมืองปัจจุบัน เริ่มมาจากการโฆษณาพรรคให้คนสนใจเข้าร่วม การทำหนังสือเชิญชวนที่ต้องแสดงชื่อพรรค เครื่องหมาย แนวนโยบายของพรรค และชื่อ อาชีพ และที่อยู่ของผู้ซึ่งเป็นคณะผู้ริเริ่มจัดตั้งพรรคการเมือง
ประเภทของผู้เข้าร่วมในกิจกรรมพรรค
1.ผู้เลือกตั้ง(Electors or Voters) หรือผู้ที่มีสิทธิออกเสียงลงคะแนนเลือกตั้งสมาชิกรัฐสภาตามกฎหมาย โดยปกติจะเป็นผู้ออกเสียงสนับสนุนผู้สมัครรับเลือกตั้งสังกัดพรรคการเมืองที่ตนสนับสนุน หรือเห็นพ้องกับนโยบายของพรรค เป็นกลุ่มที่สนับสนุนพรรคที่ปรากฏอยู่ทั่วไป
2.ผู้สนับสนุน(Supporters) คือบุคคลที่เห็นด้วยและสนับสนุนพรรคการเมืองและเป็นผู้เลือกตั้งด้วย แต่บทบทบาทมากกว่าผู้เลือกตั้ง ยอมรับว่าตนมีใจอยู่กับพรรคใดพรรคหนึ่ง เป็นที่ยอมรับ ชมชอบ ปกป้องพรรค ให้เงินช่วยเหลือแก่พรรค
3. ผู้ดำเนินพรรค(Militant) เป็นกลุ่มวงในหรือแกนกลางของพรรค สำคัญที่สุดเพราะเป็นผู้ดำเนินกิจการของพรรค กลุ่มนี้ประกอบด้วยบรรดาผู้นำทั้งหลายของพรรค ในพรรคดั้งเดิมหรือชนชั้น ได้แก่ กลุ่มที่ประกอบเป็นคอคัส หรือ caucus-men ถือว่าเป็นสมาชิกที่มีบทบาทเกื้อหนุนพรรค
4. สมาชิกพรรค(Members) ได้แก่ บุคคลที่เป็นส่วนหนึ่งของพรรคการเมือง เป็นผู้ที่สมัครใจเข้าร่วมกิจกรรมพรรคโดยถูกต้องเป็นทางการ ถ้าหากจะเปรียบเทียบกับ 3 กลุ่มที่กล่าวมาแล้ว ก็จะอยู่ในระหว่างผู้สนับสนุนและผู้ดำเนินงานของพรรค การเข้าร่วมกิจกรรมพรรคลึกซึ้งกว่าผู้สนับสนุน แต่น้อยกว่าผู้ดำเนินงานพรรค เมื่อเปรียบเทียบกันถึงผลดีผลเสียของการมีสมาชิกพรรคกับการมีผู้สนับสนุน ผู้เลือกตั้ง และผู้ดำเนินงานของพรรคแล้ว ระบบการมีสมาชิกจะมีประสิทธิภาพมากกว่า
การจัดลำดับความสำคัญของผู้เข้าร่วมพรรค ตามทัศนะของโรเบิร์ต มิเชล ได้จัดลำดับความสำคัญไว้คือ ฐานล่างสุด คือผู้ออกเสียงลงคะแนน(Voters) ซึ่งมีจำนวนมากลำดับต่อมาคือสมาชิกพรรคที่สมัครโดยถูกต้อง ชั้นที่ 3 คือองค์กรที่ประชุม ต่อมาก็คือเจ้าหน้าที่ชั้นสูงของพรรค และยอดสูงสุดก็คือคณะกรรมาธิการหรือองค์กรนำของพรรคนั่นเอง
สมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์
การเข้าเป็นสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์ของสหภาพโซเวียต CPSU นั้นเปิดโอกาสให้ทุกคนที่สนใจและยอมรับเงื่อนไข คือ ยอมรับกฎข้อบังคับพรรค เสียค่าบำรุงพรรค อายุเกิน 23 ปี ต้องเป็นสมาชิกทดลอง (Candidate member) เสียก่น 1 ปี เพื่อดูบุคลิกและคูความสามารถและความประพฤติ เมื่อครบกำหนดจึงเป็นสมาชิกสมบูรณ์(Full membership) การสมัครต้องให้สมาชิกเก่าที่อยู่ในพรรคไม่น้อยกว่า 5 ปี จำนวน 3 นาย และต้องรู้จักหรือเคยทำงานร่วมกันไม่น้อยกว่า 1 ปี เป็นผู้รับรอง
การพ้นจากสมาชิกภาพ ก็โดยการขาดการชำระเงินติดต่อกน โดยไม่มีเหตุผลพียงพอ ไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่และรักษากฎข้อบังคับของพรรคได้ และสมาชิกถูกขับออกจากพรรค
สมาชิกพรรคการเมืองไทย
1.พรรคชาติสังคมประชาธิปไตย(National Social Democratic Party) ได้กำหนดประเภทของสมาชิกไว้ 4 ประเภท คือ
ก. สมาชิกสามัญ หมายถึง ผู้ที่ดำรงหรือเคยดำรงตำแหน่งทางการเมือง เช่นวุฒิสมาชิก สมาชิกสภาผู้แทน รัฐมนตรี
ข.สมาชิกวิสามัญ หมายถึง ผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 20 ปีขึ้นไป แต่มิได้เป็นสมาชิกรัฐสภาหรือข้าราชการประจำ
ค.สมาชิกกิตติมศักดิ์ หมายถึง ผู้ที่ให้ทรัพย์สินหรือเงินแก่พรรค จำนวนตั้งแต่ 10,000 บาทขึ้นไป
ง.สมาชิกสมทบ หมายถึง ผู้ที่มิได้เป็นสมาชิก 3 ประเภทดังกล่าว แต่ต้องไม่เป็นบุคคลต้องห้ามตามกฎฆมายเลือกตั้ง
2.พรรคสหประชาไทย(United Thai People’s Party) ตามธรรมนูญ(ข้อบังคับ) ของพรรค ได้กำหนดประเภทของสมาชิกไว้ 2 ประเภท คือ
ก.สมาชิกกิตติมศักดิ์ ได้แก่ บุคคลที่พรรคเห็นสมควรเชิญเข้าเป็นสมาชิก สมาชิกประเภทนี้ไม่ต้องเสียค่าบำรุง
ข. สมาชิกสามัญ ได้แก่ บุคคลที่เห็นชอบกับนโยบายของพรรค เห็นชอบกับธรรมนูญของพรรค ยอมปฏิบัติตามระเบียบวินัยของพรรค ยอมเสียค่าบำรุงพรรคตามที่กำหนด สมัครใจทำงานให้แก่พรรคตามความสามารถ
3.พรรคประชาธิปัตย์(Democrat Party) ได้กำหนดประเภทของสมาชิกไว้ 3 ประเภท คือ
ก.สมาชิกกิตติมศักดิ์ ได้แก่ ผู้ที่อุปการคุณแก่พรรค หรือมีคุณวุฒิพิเศษ ซึ่งคณะกรรมการอำนวยการได้มีมติเชิญเป็นสมาชิกกิตติมศักดิ์
ข. สมาชิกสามัญ ได้แก่ ผู้ที่เสียค่าบำรุงพรรคเป็นประจำ มีอายุ 18 ปีบริบูรณ์ มีสัญชาติไทยตามกฎหมาย ไม่ต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก เว้นแต่ความผิดลหุโทษ ความผิดประมาท ความผิดเกี่ยวกับการเมืองในกรณีพิเศษ คณะกรรมการอำนวยการอาจพิจารณารับผู้ขาดคุณสมบัติตามข้อนี้เป็นสมาชิกได้
ค.สมาชิกสมทบ ได้แก่ ผู้ที่มีคุณสมบัติเช่นเดียวกันกับคุณสมบัติของสมาชิกสามัญ มีอายุตั้งแต่ 15 ปีขึ้นไป
พรรคที่มีลักษณะเผด็จการและไม่เผด็จการ
1.พรรคที่มีลักษณะเผด็จการ คือพรรคที่มีลักษณะการรวมอำนาจเบ็ดเสร็จ(Totalritarian) เป็นพรรคที่เน้นความสำคัญของผลประโยชน์ของพรรคว่าอยู่เหนือผลประโยชน์ของสมาชิกและเหนือผลประโยชน์ชองประเทศชาติ ครอบครัว ญาติ มิตร เป็นพรรคที่มีจุดหมายแน่นอน มีความเด็ดขาด มีระเบียบวินัยเคร่งครัด เช่น พรรคคอมมิวนิสต์ พรรคฟัสซิสต์ สรุปได้ว่า ลักษณะของพรรคเผด็จการนั้นมุ่งเอาเอกลักษณ์ในความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน ความศักดิ์สิทธิ์ของพรรค ระเบียบวินัยที่เข้มงวด ผู้เข้าเป็นสมาชิกจะต้องยอมรับสิ่งเหล่านี้
2.พรรคที่มีลักษณะไม่เผด็จการ เป็นลักษณะของพรรคที่มีสายการบังคับบัญชาไม่เข้มแข็ง มีลักษณะของกลุ่มผู้เชี่ยวชาญ ไม่มีเอกภาพเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน สมาชิกจะแบ่งออกเป็นหลายฝ่ายความคิด
สรุปได้ว่า การเป็นสมาชิกการเมือง นอกจากจะหมายถึงการเป็นส่วนประกอบสำคัญของพรรคการเมืองแล้ว ในส่วนที่เป็นบทบาทของสมาชิกนั้น สมาชิกในพรรคการเมือง เช่น พรรคการเมืองในสหรัฐอเมริกา จะมีบทบาทในด้านกำหนดนโยบาย(Platform) ซึ่งนโยบายนี้จะต้องได้รับความเห็นชอบจากที่ประชุมใหญ่ของพรรค สำหรับพรรคมวลชน อย่างเช่น พรรคสังคมนิยม พรรคฟัสซิสต์ และพรรคคอมมิวนิสต์ ซึ่งมีโครงสร้างเป็นแบบรวมอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาด(Totalitarian) สมาชิกในระดับปลายแถวจะไม่มีสิทธิ์มีเสียงในการตัดสินใจในนโยบาย แต่จะมีกลุ่มหัวกระทิที่เป็นชนกลุ่มน้อยของพรรคจำนวนไม่กี่คนเท่านั้นเป็นผู้กำหนดนโยบาย(Platform) ของพรรค
---------------------
คำถามท้ายบท
1.จงแสดงประเภทของผู้เข้าร่วมในกิจกรรมประเภทต่างๆ คือ ผู้เลือกตั้ง, ผู้สนับสนุน, ผู้ดำเนินงานพรรค และ สมาชิกพรรค
2. การเข้าเป็นสมาชิกพรรคการเมืองไทย แบบเข้าร่วมอย่างไม่มีเงื่อนไง และการเข้าร่วมอย่างมีเงื่อนไง แตกต่างกันอย่างไร
3. “The French political scientist Maurice Duverger drew a distinction between cadre parties and mass parties. Cadre parties were political elites that were concerned with contesting elections and restricted the influence of outsiders. Mass parties tried to recruit new members who were a source of party income and were often expected to spread party ideology as well as assist in elections.”
3.1 จงแปลประโยคภาษาอังกฤษข้างต้นเป็นภาษาไทยให้ได้ความสละสลวย
3.2 มอริส ดูแวร์เช่ นักรัฐศาสตร์ชาวฝรั่งเศส บอกถึงข้อแตกต่างระหว่างพรรคชนชั้น(Cadre parties) กับพรรคมวลชน(Mass Parties) ว่าอย่างไร โดยให้ใช้คำแปลจากประโยคภาษาอังกฤษข้างต้นเป็นตัวช่วยในการตอบคำถามข้อนี้
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น