ที่จะนำเสนอต่อไปนี้เป็นเรื่องราวของกลุ่มกดดันในประเทศสหราชอาณาจักร ประเทศแคนาดาและประเทศสหรัฐอเมริกา โดยมีการแตกประเด็นออกเป็น 3 หัวข้อย่อยดังนี้:
1.ตัวอย่างกลุ่มกดดันในประเทศสหราชอาณาจักร
2.ยุทธวิธีของกลุ่มกดดันของประเทศแคนาดา
3.กลุ่มกดดันของประเทศสหรัฐอเมริกา
---------------------------------------
กลุ่มกดดันในประเทศสหราชอาณาจักร
สหราชอาณาจักรมีการปกครองแบบเสรีประชาธิปไตย ในแบบรัฐสภา(Parliamentary System) และมีระบบพรรคการเมืองแบบสองพรรค(Two Party System) ที่พรรคใหญ่สองพรรคคือพรรคแรงงานและพรรคอนุรักษ์นิยมผลัดกันชนะการเลือกตั้งและจัดตั้งรัฐบาลบริหารประเทศ ซึ่งเมื่อฝ่ายหนึ่งชนะการเลือกตั้งและทำการจัดตั้งรัฐบาล อีกพรรคหนึ่งก็จะทำหน้าที่เป็นฝ่ายค้าน ส่วนกลุ่มกดดันในสหราชราชอาณาจักรที่ทำงานเพื่อมีอิทธิพลต่อนโยบายของรัฐบาลเพื่อเป้าหมายสุดท้ายคือเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของกลุ่มตนนั้นมีอยู่หลายกลุ่มด้วยกัน แต่ที่ยกมาเป็นตัวอย่างในที่นี้เป็นเพียงจำนวนน้อย คือเพียง 6 กลุ่มดังนี้:
1.กลุ่มเชลเตอร์(Shelter) มีวัตถุประสงค์ในการช่วยเหลือบุคคลไร้ที่อยู่อาศัย(Aims to help homeless people)
2. องค์การนิรโทษกรรมสากล(Amnesty international มีวัตถุประสงค์ที่จะคุ้มครองสิทธิมนุษยชน(Defends human right) ของบุคคลทั่วโลก
3. องค์การกรีนพีซ(Greenpeace)มีวัตถุประสงค์ในการรณณรงค์ด้านสิ่งแวดล้อม(Campaigns on environmental issues)
4. ซีบีไอ (CBI=สมาพันธ์อุตสาหกรรมอังกฤษ) มีวัตถุประสงค์ส่งเสริมผลประโยชน์ของภาคธุรกิจ
5. ทียูซี (TUC= Trade Union) คือสหภาพแรงงาน มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมผลประโยชน์ของกรรมกรผู้ใช้แรงงาน
6.เอเอสเอซ (ASH=Action on Smoking Health) คือ กลุ่มที่มีวัตถุประสงค์ต่อต้านการสูบบุหรี่
ยุทธวิธีของกลุ่มกดดันในประเทศแคนาดา
ประเทศแคนาดามีระบอบการปกครองแบบรัฐสภา และมีระบบการเมืองแบบสองพรรค เหมือนที่ประเทศสหราชอาณาจักร กลุ่มกดดันที่ประเทศแคนาดาได้รับอิทธิพลจากวิวัฒนาการทางด้านเทคโนโลยีจากสหรัฐอเมริกา ทำให้มีวิธีการกดดันรัฐบาลที่ก้าวหน้ามากดังนี้:
1.กลุ่มกดดันของประเทศแคนาดาใช้การรณรงค์ผ่านทางสื่อสารมวลชน(Mass-media Campaign) เพื่อคัดค้านหรือสนับสนุนนโยบายของรัฐอย่างใดอย่างหนึ่ง
2.กลุ่มกดดันของประเทศแคนาดาใช้วิธีการจ้างโฆษณา(Paid Advertisement) เพื่อคัดค้านหรือสนับสนุนนโยบายของรัฐบาลอย่างใดอย่างหนึ่ง
3. กลุ่มกดดันของประเทศแคนาดาใช้การพบปะอย่างไม่เป็นทางการกับเจ้าหน้าที่ของรัฐบาลระดับอาวุโส(Informal meetings with senior bureaucrats)
4.กลุ่มกดดันของประเทศแคนาดาใช้วิธีบรรยายสรุปแก่กรรมาธิการรัฐสภา(The presentation of a brief to parliamentary committee)
5. กลุ่มกดดันของประเทศแคนาคาใช้วิธีพบปะเป็นการส่วนตัวกับที่ปรึกษาที่มีอิทธิพลและรัฐมนตรีเจ้ากระทรวงต่างๆ(Meetings with influential advisers and ministers)
กลุ่มกดดันในสหรัฐอเมริกา
สำหรับสหรัฐอเมริกาเป็นตัวอย่างของประเทศที่มีระบอบการปกครองแบบประธานาธิบดี(Presidential System) มีระบบพรรคการเมืองแบบสองพรรค (Two Party System)ประธานาธิบดีเป็นผู้ตั้งรัฐบาล และสมาชิกของรัฐบาลไม่ได้เป็นสมาชิกของรัฐสภาหรือสภาคองเกรส อันประกอบด้วยสภาสูงที่มีชื่อว่าวุฒิสภา(Senate) และสภาล่างที่มีชื่อว่าสภาผู้แทนราษฎร(House of Representatives) ในบรรยากาศของระบอบการปกครองของสหรัฐอเมริกาดังกล่าวมานี้ กลุ่มกดดันในสหรัฐอเมริกามีความเข้มแข็งในการเคลื่อนไหวเพื่อมีอิทธิพลต่อประชามติและต่อนโยบายของรัฐบาลทั้งในฝ่ายนิติบัญญัติและในฝ่ายฝ่ายบริหาร ดังจะนำเสนอเรื่องของกลุ่มกดดันของประเทศนี้ตามลำดับดังนี้
1.ตัวกำหนดอิทธิพลของกลุ่มกดดันในสหรัฐอเมริกา
ได้มีการศึกษากลุ่มกดดันในสหรัฐอเมริกาว่าจะมีอิทธิพลมากน้อยขนาดไหนนั้น ขึ้นอยู่กับ 3 ปัจจัยต่อไปนี้
1.1 ขึ้นอยู่กับขนาดของสมาชิก(Size of its membership)
1.2 ขึ้นอยู่กับสถานภาพทางสังคมของสมาชิก(Socioeconomic status of its members)
1.3 ขึ้นอยู่กับทรัพยากรทางการเงินของกลุ่ม(Its financial resources)
2.เป้าหมายของกลุ่มกดดันในการกดดันรัฐบาล
กลุ่มกดดันของสหรัฐอเมริกาจะเล็งเป้าการกดดันไปยังหน่วยงานของรัฐบาลดังนี้
2.1 กลุ่มกดดันสหรัฐอเมริกาจะเล็งเป้าการกดดันไปที่รัฐสภาของสหรัฐฯ หรือสภาคองเกรส ซึ่งเป็นสภาที่จะร่างกฎหมายอันจะกระทบต่อผลประโยชน์ของกลุ่มกดดัน กลุ่มกดดันจะใช้วิธีให้คำมั่นสัญญากับสมาชิกรัฐสภาโดยเฉพาะกับตัวประธานคณะกรรมาธิการที่เกี่ยวข้องว่าสมาชิกของกลุ่มตนจะให้การสนับสนุนด้านการเงินและด้านลงคะแนนเสียงให้แก่สมาชิกสภาที่ให้การสนับสนุนแนวทางของกลุ่มในการเลือกตั้งครั้งต่อไป
2.2 กลุ่มกดดันของสหรัฐอเมริกา นอกจากจะทำการลอบบีกับฝ่ายนิติบัญญัติแล้ว ก็ยังจะทำการลอบบีกับฝ่ายบริหาร เพราะว่าฝ่ายบริหารก็คือฝ่ายที่จะบังคับใช้กฎหมาที่ออกมาโดยฝ่ายนิติบัญญัติ กลุ่มกดดันจึงใช้วิธีสร้างอิทธิพลกดดันต่อการตัดสินใจของหน่วยงานต่างๆของฝ่ายบริหารอีกทางหนึ่ง
2.3 กลุ่มกดดันของสหรัฐอเมริกา นอกจากจะกดดันทั้งฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายบริหารแล้ว ก็ยังมีแนวทางที่จะกดดันผ่านทางพรรคการเมือง แต่อย่างที่ทราบมาแล้วว่ากลุ่มกดดันจะใช้วิธีสร้างอิทธิพลต่อนโยบายสาธารณะเท่านั้น จะไม่มีการส่งคนของกลุ่มลงสมัครแข่งขันเลือกตั้ง แต่กลุ่มกดดันต่างๆในสหรัฐอเมริกาจะไม่ยอมร่วมหัวจมท้ายกับพรรคการเมืองพรรคใดพรรคหนึ่ง หากแต่จะใช้ยุทธวิธีไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด
2.4 กลุ่มกดดันขนาดใหญ่ในสหรัฐอเมริกาจะใช้ยุทธวิธีสร้างประชามติโดยการรณรงค์ด้วยวิธีส่งจดหมายถึงบ้าง (Mailing Campaign)โดยการโฆษณาบ้าง(Advertising) โดยการใช้สื่อสารมวลชนบ้าง( Communication media)
3.ประเภทของกลุ่มกดดันในสหรัฐอเมริกา
สำหรับกลุ่มกดดันในสหรัฐอเมริกาสามารถแยกออกได้เป็น 5 กลุ่มใหญ่ คือ
3.1 กลุ่มเศรษฐกิจ(Economic groups)
3.2 กลุ่มรักชาติ(Patriotic groups)
3.3 กลุ่มเผ่าพันธุ์(Racial groups)
3.4 กลุ่มอาชีพ(Occupational groups)
3.5 กลุ่มของสตรี(Women’s groups)
4.กลุ่มกดดันที่มีชื่อเสียงของสหรัฐอเมริกา
สำหรับกลุ่มกดดันของสหรัฐอเมริกาที่มีชื่อเสียง มีรายชื่อดังต่อไปนี้ :
1.กลุ่มเอเออาร์พี(AARP=American Association of Retired Persons) คือ กลุ่มบุคคลผู้เกษียณอายุ
2. กลุ่มสมาพันธ์องค์การชาวนาชาวไร่อเมริกัน(The American Farm Bureau Federation)
3. กลุ่ม รีจันอเมริกัน(The American Legion)
4. กลุ่มสมาคมการผลิตแห่งชาติ(The National Association of Manufactures)
5. กลุ่มองค์การปฏิรูปกฎหมายว่าด้วยกัญชาแห่งชาติ(The National Organization for the Reform of Marijuana Laws)
---------------------------
คำถามท้ายบท
1. อะไรคือตัวกำหนดว่ากลุ่มกดดันในสหรัฐอเมริกาจะมีอิทธิพลมากหรือมีอิทธิพลน้อย
2.จงบอกถึงยุทธวิธีของกลุ่มกดดันในประเทศแคนาดาว่ามีอะไรบ้าง
3. A major area of concentration for pressure groups in the United States is the Congress, which may draw up legislation affecting the interests of the group. Through promises of financial support or of votes by interest group members at the next election, the organization hopes to persuade certain legislators, especially appropriate committee chairmen, to endorse favorable legislation.
3.1 จงแปลเรื่องราวเกี่ยวกับกลุ่มกดดันในสหรัฐอเมริกาข้างต้นเป็นภาษาไทยให้ได้ความสละสลวย
3.2 จงใช้ข้อมูลจากภาษาอังกฤษที่แปลเป็นภาษาไทยแล้วเป็นตัวช่วยในการตอบคำถามต่อไปนี้
3.2.1 กลุ่มกดดันในสหรัฐอเมริกากดดันหน่วยงานใดของสหรัฐอเมริกา
3.2.2 ทำไมกลุ่มกดดันจึงไปกดดันที่นั่น
3.2.3 กลุ่มกดดันให้สัญญากับสมาชิกของสภาคองเกรสว่าอย่างไร
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น