ระบบพรรคการเมือง
สำหรับในสัปดาห์นี้ กระบวนการเรียนการสอนก็จะเข้าสู่บทเรียนในหัวข้อ “ระบบพรรคการเมือง”
ซึ่งมีขอบข่ายของการบรรยายครอบคลุมถึงห้วข้อย่อยที่แตกประเด็นออกไปคือ:
1.ระบบพรรคการเมือง
-ระบบพรรคเดียว
-ระบบสองพรรค
-ระบบหลายพรรค
2.ความสัมพันธ์ระหว่างระบบเลือกตั้งกับจำนวนของพรรคการเมือง
---------------------------
ประเภทของระบบพรรคการเมือง
นักวิเคราะห์พรรคการเมืองมักจะพูดถึงระบบพรรค(Party System) ซึ่งก็หมายรวมถึงจำนวนของพรรคการเมืองและแบบแผนของสัมพันธภาพระหว่างพรรคการเมืองในประเทศใดประเทศหนึ่งอยู่เสมอ ว่าโดยกว้างๆแล้วระบบพรรคการเมืองมีอยู่ 3 ประเภทด้วยกันคือ ระบบพรรคการเมืองแบบพรรคเดียว ระบบพรรคการเมืองแบบสองพรรค และระบบพรรคการเมืองแบบหลายพรรค แต่ก็เป็นเรื่องที่ไม่ง่ายนักที่จะจัดประเภทระบบพรรคการเมืองของประเทศใดประเทศหนึ่ง ดังจะขอยกตัวอย่างเช่น ที่เรียกระบบพรรคการเมืองแบบสองพรรคนั้นก็มักจะมีพรรคขนาดเล็กซึ่งอาจจะมาทำหน้าที่เป็นตัวถือดุลระหว่างพรรคการเมืองสองพรรคในบางครั้งได้ และในบางประเทศที่มีพรรคการเมืองจำนวนหลายพรรคแข่งขันในการเลือกตั้งนั้น ก็อาจจะมีพรรคการเมืองเพียงหนึ่งเดียวที่มีความโดดเด่นเป็นอย่างมากเป็นระยะเวลายาวนาน บทบาทที่โดดเด่นของพรรคปฏิวัติสถาบัน(Institution Revolution Party)ในเม็กซิโกก็ดี หรือพรรคเดโมเครต (Democratic Party) ในทางตอนใต้ส่วนใหญ่ของสหรัฐอเมริกาก็ดี ในช่วงเวลานับจากปี ค.ศ. 1876 ถึงทศวรรษ 1950 ก็ดี ถือได้ว่าเป็นตัวอย่างของระบบพรรคการเมืองที่พรรคเดียวมีความโดดเด่น
ระบบพรรคการเมืองแบบพรรคเดียว
ระบบพรรคการเมืองแบบพรรคเดียว ใช้ในภาษาอังกฤษว่า Single-Party System เป็นระบบพรรคการเมืองในประเทศที่มีระบอบการปกครองแบบรวบอำนาจเบ็ดเสร็จ(Totalitarian Regimes) อนุญาตให้มีพรรคการเมืองได้เพียงพรรคเดียวเท่านั้น กระนั้นก็ตาม พรรคการเมืองเพียงพรรคเดียวนี้ก็จะมีอำนาจแตกต่างกันออกไป ในประเทศที่มีการปกครองแบบคอมมิวนิสต์(Communist Countries) อำนาจของพรรคคอมมิวนิสต์จะมีอย่างล้นเหลือในทุกๆด้าน เลขานุการคนแรกของพรรค (The First Secretary of The Party) อาจจะเป็นบุคคลสำคัญที่สุดในรัฐบาลแลในประเทศเลยก็ได้ และก็มีอยู่บ่อยๆที่เจ้าหน้าที่ชั้นสูงของพรรคไม่ใช่เจ้าหน้าที่ทางการของรัฐเป็นผู้มีอำนาจทางการเมืองอย่างแท้จริง
ระบบการเมืองที่ถูกครอบงำโดยพรรคฟัสซิสต์เพียงพรรคเดียวนั้นก็เป็นอีกตัวอย่างหนึ่งของระบบพรรคการเมืองเพียงพรรคเดียว ในเยอรมนีสมัยนาซีเรืองอำนาจนั้น พรรคสังคมนิยมแห่งชาติ(National Socialist Party-NSP) มีบทบาทสำคัญในประเทศ ระบบพรรคเดียวแบบฟัสซิสต์อื่นๆได้ถูกสร้างขึ้นมาโดยพรรคฟัสซิสต์ในอิตาลี พรรคฟารังส์(Falangs) ในสเปน และพรรคสหภาพแห่งชาติ(National Union) ในโปรตุเกส อย่างก็ดี พรรคการเมืองแบบพรรคเดียวเหล่านี้ไม่ได้มีความเข้มแข็งมากเท่าพรรคเอนเอสพี(NSP) ของเยอรมนี
ในคริสต์ศตวรรษที่ 20 มีระบบพรรคการเมืองแบบพรรคเดียวจำนวนหนึ่งที่ไม่ใช่แบบเดียวกับคอมมิวนิสต์และแบบฟัสซิสต์ได้เกิดขึ้นในเอเชีย แอฟริกา และละตินอเมริกา เป็นพรรคที่ยึดแนวทางการปฏิรูป และเป็นพรรคชาตินิยมที่ต้องการต่อสู้เพื่อปลดแอกของการตกเป็นอาณานิคมของต่างชาติ พรรคเหล่านี้ได้แก่ พรรคสหภาพสังคมนิยมอาหรับ(Arab Socialist Union Party) ในอียิปต์ พรรคประชาชนรีพับลิกัน(Republican People’s Party) ในตุรกี และพรรคนีโอเดสตัวร์(Neo-Destour) ในตูนิเซีย เป็นต้น
ระบบพรรคการเมืองแบบสองพรรค
ระบบพรรคการเมืองแบบสองพรรค ในภาษาอังกฤษใช้ว่า Two-Party System ในระบบพรรคการเมืองแบบสองพรรคนี้จะมีพรรคการเมืองอื่นๆ ซึ่งเรียกกันว่า พรรคการเมืองขนาดเล็ก(Minor Parties) ลงสมัครรับเลือกตั้งด้วย แต่พรรคการเมืองใหญ่สองพรรคจะได้รับการสนับสนุนกวาดคะแนนเสียงเลือกตั้งไปเกือบทั้งหมด และพรรคการเมืองหนึ่งในสองพรรคใหญ่นี้จะชนะได้คะแนนเสียงส่วนใหญ่แบบเด็ดขาดสามารถควบคุมทั้งฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติของรัฐบาล ทั้งสองพรรคใหญ่นี้ปกติจะผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันขึ้นครองอำนาจจัดตั้งรัฐบาล ระบบพรรคการเมืองของสหรัฐอเมริกาคือตัวอย่างแบบคลาสสิคของระบบพรรคการเมืองแบบสองพรรคที่ทำงานอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญที่กำหนดให้มีการแบ่งแยกอำนาจของรัฐบาลออกเป็นฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติอย่างเป็นทางการในระบบการปกครองแบบประธานาธิบดี(Formal Separation of the Executive and Legislative Branches of the Government) ส่วนระบบพรรคการเมืองในสหราชอาณาจักรและในนิวซีแลนด์นั้น เป็นตัวอย่างของระบบสองพรรคการเมืองภายใต้รูปแบบของรัฐบาลแบบรัฐสภา(Parliamentary Form of Government) อันเป็นระบบแบบรวมอำนาจของฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติ(A fusion of the Executive and Legislative Branches of the Government)
เมื่อเปรียบเทียบกับพรรคการเมืองของสหรัฐอเมริกาแล้ว พรรคขนาดใหญ่ในสหราชอาณาจักรและในนิวซีแลนด์เป็นพรรคแบบรวมอำนาจไว้กับส่วนกลางมากกว่า มีการจัดตั้งที่กว้างขวางกว่าและมีระเบียบวินัยเข้มงวดกว่าพรรคการเมืองของสหรัฐอเมริกา ในแคนาดาพรรคการเมืองแบบสองพรรคคือ พรรคอนุรักษ์หัวก้าวหน้า(Progressive Conservatives) และพรรคเสรีนิยม(Liberals) มีความเข้มแข็งมากจนถึงกับพูดได้ว่าเป็นระบบพรรคการเมืองแบบสองพรรคโดดเด่น(Predominantly Two-Party System) แม้ว่าพรรคการเมืองขนาดเล็กที่มีความสำคัญยังคงมีอยู่ในประเทศอยู่ก็ตาม ส่วนในออสเตรเลียนั้นระบบพรรคการเมืองทำงานอย่างมีประสิทธิภาพในระบบพรรคการเมืองสองพรรคอีกเช่นเดียวกัน เป็นระบบที่พรรคแรงงาน (Labour Party) แข่งขันกับพรรคเสรีนิยม(Liberal Party) กับพรรคพันธมิตรพรรคที่สามที่มีขนาดเล็กกว่าที่ชื่อว่าพรรคประเทศ(Country Party)
แต่ก็อย่างที่เคยกล่าวไว้ในข้างต้นแล้วว่า แม้แต่ในระบบพรรคการเมืองแบบสองพรรคเอง ก็ยังมีพรรคขนาดเล็กที่มีความสำคัญอยู่ในระบบด้วย ดังจะขอยกตัวอย่างเช่น ในการเลือกตั้งของอังกฤษและของแคนาดานั้น หากไม่มีพรรคการเมืองพรรคหนึ่งพรรคใดชนะการเลือกตั้งแบบได้เสียงข้างมากชนิดเด็ดขาดในสภานิติบัญญัติแล้ว พรรคที่ได้เสียงนำอีกพรรคหนึ่งนั้นก็มักจะต้องพึ่งพาการสนับสนุนจากพรรคขนาดเล็กในรัฐสภาเมื่อจะต้องลงคะแนนเสียงในเรื่องสำคัญในสภา
สำหรับพรรคขนาดเล็กในสหรัฐอเมริกานั้น ถึงแม้ว่าจะไม่ได้มีชัยชนะได้รับเสียงสนับสนุนเป็นกอบเป็นกำอะไรมากนัก แต่พรรคเหล่านี้บางครั้งก็จะมีผลสำคัญต่อหนึ่งในสองพรรคใหญ่ได้เหมือนกัน มีอยู่บ่อยครั้งที่พรรคการเมืองใหญ่ทั้งสองพรรคจะเปลี่ยนแปลงท่าทีเกี่ยวกับประเด็นของนโยบายที่สำคัญๆเพื่อเอาใจและป้องกันพรรคขนาดเล็กไม่ให้ลงคะแนนเสียงคัดค้านในสภา
ระบบหลายพรรคการเมือง
ระบบหลายพรรคการเมือง ในภาษาอังกฤษใช้ว่า Multiparty Systems เป็นระบบพรรคการเมืองที่มีมากกว่าระบบสองพรรคการเมือง ในประเทศที่มีระบบหลายพรรคการเมืองนี้ จะมีอย่างน้อยสามพรรค(ปกติแล้วจะมากกว่าสามพรรค) ได้คะแนนเสียงสนับสนุนและมีอำนาจทางการเมืองเป็นจำนวนมาก ระบบพรรคการเมืองแบบหลายพรรคนี้จะมีอยู่ดื่นดาดในแถบยุโรปตะวันตก ในเอเชีย ในแอฟริกา และในแถบละตินอเมริกา
ในยุโรปตะวันตก นับตั้งแต่เกิดการปฏิวัติทางด้านอุตสาหกรรมแล้ว พรรคเสรีนิยม พรรคอนุรักษ์นิยม และพรรคสังคมนิยมก็ได้ก่อกำเนิดขึ้น ส่วนพรรคคอมมิวนิสต์ก็มักจะพัฒนาในกาลต่อมาเป็นกลุ่มที่แตกแยกออกมาจากพรรคสังคมนิยมที่มีลักษณะเป็นกลางๆอักทีหนึ่ง พรรคคริสเตียนเดโมแครตต่างๆ(Christian Democratic Parties) ทีความเชื่อมโยงกับศาสนจักรโรมันคาทอลิก ก็มีความสำคัญมากขึ้น กระนั้นก็ดี พรรคการเมืองอื่นๆที่มีความสำคัญในระบบการเมืองแบบหลายพรรคก็ยังคงเป็นพรรคฝ่ายฟัวซิสต์บ้าง พรรคที่เป็นตัวแทนของชนกลุ่มน้อยแบบชาติพันธ์หรือเป็นตัวแทนในระดับภูมิภาคบ้าง พรรคในชนบท ซึ่งเป็นพรรคที่จัดตั้งขึ้นมาเพื่อเป็นปากเป็นเสียงของคนชนบทบ้าง พรรคของคนในเมืองบ้าง พรรคที่เป็นตัวแทนของนิกายทางศาสนานิกายใดนิกายหนึ่งบ้าง และพรรคที่จัดตั้งโดยอิงอาศัยหัวหน้าพรรคที่เป็นคนที่ได้รับความนิยมมากๆบ้าง
การมีพรรคการเมืองแบบหลายพรรคนี้ทำให้เป็นการยากที่จะทำการจัดตั้งรัฐบาลผสมที่มีเสถียรภาพเหมือนอย่างในกรณีของระบบพรรคการเมืองแบบสองพรรค ในบางครั้งพรรคการเมืองที่เข้มแข็งพรรคใดพรรคหนึ่งในระบบพรรคการเมืองแบบหลายพรรคอาจจะได้เสียงข้างมากแบบเด็ดขาด(Absolute Majority) คือได้ที่นั่งมากที่สุดในสภานิติบัญญัติก็ได้ นับตั้งแต่ปี ค.ศ. 1945 เป็นต้นมา ระบบพรรคการเมืองแบบหลายพรรคเกิดขึ้นตามห้วงเวลาต่างๆในอิตาลี ในเยอรมนีตะวันตก และในเบลเยียม แต่ตามปกติแล้วจะไม่มีพรรคการเมืองพรรคใดได้เสียงข้างมากในแบบเด็ดขาด(Clear-cut Majority) ในระบบพรรคการเมืองแบบหลายพรรค และจึงมีความจำเป็นจะต้องจัดตั้งรัฐบาลผสม(Coalition Government) โดยการนำพรรคการเมืองสองพรรคบ้างตั้งแต่สองพรรคขึ้นไปบ้างมาร่วมกันจัดตั้งรัฐบาลบริหารประเทศ
รัฐบาลผสมแบบนี้มักจะเปราะบาง(Fragile) ในบางครั้งรัฐบาลที่จัดตั้งขึ้นมาจะล้มครั้งแล้วครั้งเล่า และในแประเทศที่มีระบบพรรคการเมืองแบบหลายพรรคนี้อาจจะมีรัฐบาลสามสี่รัฐบาลหรือมากกว่านี้ในช่วงเวลาแค่ปีเดียวก็ได้ แต่ตรงกันข้ามรัฐบาลผสมในระบบพรรคการเมืองแบบหลายพรรคอาจจะมีเสถียรภาพยืนยงคงกระพันอยู่ได้ตลอดก็ได้ ในบางประเทศการเป็นพันธมิตรกันระหว่างพรรคการเมืองต่างๆมีการตกลงกันจนกลายเป็นเรื่องกึ่งถาวรไปเลยก็มี
สำหรับรูปแบบของการรัฐบาลแบบผสมจะมีข้อแตกต่างกันออกไปอีกมาก ในบางครั้งอาจจะมีการรวมกลุ่มของพรรคการเมืองฝ่ายขวาเพื่อเอาชะพรรคการเมืองฝ่ายซ้ายอย่างนี้ก็มี ในบางครั้ง มีการแบ่งฝักแบ่งฝ่ายในรูปแบบเหมือนในระบบสองพรรคดังเช่นที่พบในระบบการเมืองแบบสองพรรคอย่างนี้ก็มี ในบางประเทศรัฐบาลแบบผสมอาจนำอาพรรคที่มีแนวความคิดแบบกลางๆมารวมกันเป็นรัฐบาลเพื่อต่อต้านพรรคการเมืองที่รวมตัวกันของฝ่ายซ้ายและฝ่ายขว่าอย่างนี้ก็มีอีกเหมือนกัน ขอยกตัวอย่างเช่น ในฝรั่งเศสในระหว่างสาธารณรัฐที่ 4(The Fourth Republic) ซึ่งอยู่ในช่วงปี ค.ศ. 1946 ถึงปี ค.ศ. 1958 รัฐบาลผสมที่จัดตั้งขึ้นปกติเป็นการผสมกันในหมู่พรรคการเมืองแบบที่มีแนวความคิดแบบสายกลาง สำหรับฝ่ายคอมมิวนิสต์ที่อยู่ฝ่ายซ้ายและพวกกอลลิสต์ที่อยู่ฝ่ายขวาจะถูกกีดกันไม่ให้เข้ามาร่วมในการจัดตั้งรัฐบาลผสม ไม่ว่ารูปแบบของการจัดตั้งรัฐบาลผสมจะเป็นแบบไหน ล้วนแต่จะต้องใช้กระบวนการที่สลับซับซ้อนของการเจรจาต่อรองเพื่อให้สามารถจัดตั้งรัฐบาลและธำรงไว้ซึ่งรัฐบาลที่ตั้งขึ้นมาในระบบการเมืองแบบหลายพรรคนี้ทั้งนั้น
ความสัมพันธ์ระหว่างระบบการเลือกตั้งกับจำนวนพรรคการเมือง
รูปแบบของระบบการเลือกตั้งที่นำมาใช้ในประเทศใดประเทศหนึ่งสามารถมีอิทธิพลต่อจำนวนของพรรคการเมืองในประเทศนั้นๆ กล่าวกันว่าระบบการเลือกตั้งผู้แทนแบบสัดส่วน(Proportional Representation) มีแนวโน้มที่จะทำให้ระบบพรรคการเมืองของประเทศนั้นเป็นแบบหลายพรรค ทั้งนี้เพราะเป็นระบบที่ให้หลักประกันแม้แต่แก่พรรคที่ได้คะแนนเสียงจำนวนน้อยว่าจะได้บางที่นั่งในสภานิติบัญญัติ
ตรงกันข้ามระบบการเลือกตั้งที่ผู้สมัครรับเลือกตั้งหนึ่งคนถูกเลือกมาจากแต่ละเขตเลือกตั้งนั้น (เป็นการเลือกตั้งที่ไม่ใช้ระบบเลือกตั้งรอบสอง( Runoff Election) แต่เป็นแบบผู้สมัครรับเลือกตั้งคนใดได้คะแนนเสียงมากที่สุดจะเป็นผู้ได้รับการประกาศชื่อว่าเป็นผู้ชนะ) เขาบอกว่าเป็นระบบการเลือกตั้งที่ส่งเสริมให้มีระบบสองพรรคการเมือง เพราะว่าเป็นระบบที่เป็นโทษแก่พรรคการเมืองที่อาจจะได้คะแนนเสียงจำนวนหนึ่งแต่จะไม่ได้เสียงส่วนใหญ่ที่จำเป็นต่อการเลือกตั้งผู้สมัครรับเลือกตั้งในเขตเลือกตั้งเขตใดเขตหนึ่งเป็นการเฉพาะก็ได้
ตรงกันข้ามระบบการเลือกตั้งที่ผู้สมัครรับเลือกตั้งหนึ่งคนถูกเลือกมาจากแต่ละเขตเลือกตั้งนั้น (เป็นการเลือกตั้งที่ไม่ใช้ระบบเลือกตั้งรอบสอง( Runoff Election) แต่เป็นแบบผู้สมัครรับเลือกตั้งคนใดได้คะแนนเสียงมากที่สุดจะเป็นผู้ได้รับการประกาศชื่อว่าเป็นผู้ชนะ) เขาบอกว่าเป็นระบบการเลือกตั้งที่ส่งเสริมให้มีระบบสองพรรคการเมือง เพราะว่าเป็นระบบที่เป็นโทษแก่พรรคการเมืองที่อาจจะได้คะแนนเสียงจำนวนหนึ่งแต่จะไม่ได้เสียงส่วนใหญ่ที่จำเป็นต่อการเลือกตั้งผู้สมัครรับเลือกตั้งในเขตเลือกตั้งเขตใดเขตหนึ่งเป็นการเฉพาะก็ได้
ปัจจัยอย่างอื่นๆที่มีส่วนส่งอิทธิพลต่อการตัดสินว่าประเทศใดจะมีระบบพรรคการเมืองแบบใดนั้น ก็คือโครงสร้างและวัฒนธรรมของประเทศ ตลอดจนระบบรัฐธรรมนูญที่เป็นทางการ (ซึ่งก็รวมถึงระบบการเลือกตั้งด้วย) และประวัติศาสตร์ของพรรคการเมืองในประเทศ อันเป็นผลของการสืบทอดมรดกมาจากเหตุการณ์ทางการเมืองในอดีตของประเทศนั้นๆด้วย
--------------
คำถามท้ายบท
1.จงสรุปความของระบบพรรคเดียว ระบบสองพรรค และระบบหลายพรรค เท่าที่เวลาจะอำนวย
2.ระบบการเลือกตั้งมีความสัมพันธ์กับจำนวนของพรรคการเมืองได้อย่างไร จงอธิบายแต่พอสังเขป
3. “ The electoral system in which one legislator is elected from each constituency(with no runoff election and the candidate with the largest number of votes declared the winner) may encourage the development of a two-party system.”
3.1 จงแปลประโยคภาษาอังกฤษเป็นภาษาไทยให้ได้ความสละสลวย
3.2 ระบบการเลือกตั้งแบบใดที่ส่งเสริมให้มีระบบพรรคการเมืองแบบสองพรรค (ทั้งนี้ให้นำข้อมูลจากประโยคภาษาอังกฤษข้างต้นเป็นตัวช่วยในการตอบ)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น