ระบบการเลือกตั้ง
ที่จะนำเสนอในสัปดาห์นี้ยังเป็นเรื่องในหมวดของ “การเลือกตั้ง” โดยมุ่งไปที่ระบบการเลือกตั้ง ที่มีสาระครอบคลุมหัวข้อย่อยดังนี้:
1.ระบบการเลือกตั้งแบบเสียงข้างมากธรรมดา
2.ระบบการเลือกตั้งแบบเสียงข้างมากเด็ดขาด
3.ระบบการเลือกตั้งแบบสัดส่วน
4.ระบบการเลือกตั้งผสม
------------------------
ระบบการเลือกตั้ง
ระบบการเลือกตั้ง(Electoral System) ที่ประเทศต่างๆนำมาใช้ในการเลือกตั้งผู้แทนมีหลายระบบดังนี้:
1.ระบบการเลือกตั้งแบบเสียงข้างมากธรรมดา(Plurality System)
เป็นระบบที่ผู้สมัครรับเลือกตั้งที่ได้คะแนนสูงสุดจะเป็นผู้ชนะการเลือกตั้ง โดยไม่คำนึงว่าผู้ชนะการเลือกตั้งจะได้คะแนนเกินครึ่งของผู้ใช้สิทธิเลือกตั้งทั้งหมดหรือไม่ ปกติแล้วระบบการเลือกตั้งแบบเสียงข้างมากธรรมดานี้มักจะใช้สำหรับเขตเลือกตั้งที่มีผู้แทนได้ 1 คน (Single-Member District) แต่ก็มีหลายประเทศที่ใช้ระบบนี้กับเขตเลือกตั้งที่มีผู้แทนได้มากกว่า 1 คน (Multi-Member District) ระบบนี้แยกออกเป็น 3 ระบบย่อยดังนี้:
1.1 ระบบผู้ได้คะแนนสูงสุดชนะเลือกตั้ง(First-Past-the-Post System)
เป็นระบบที่มีรูปแบบง่ายต่อความเข้าใจของผูใช้สิทธิเลือกตั้ง และสะดวกต่อฝ่ายจัดการเลือกตั้ง เพราะผู้ชนะเลือกตั้งคือผู้ได้คะแนนสูงสุดในเขตเลือกตั้ง ซึ่งมีผู้แทนได้เพียง 1 คน หรือเขตละคน(Single-Member District) เท่านั้น ประเทศที่ใช้ระบบนี้ได้แก่ สหราชอาณาจักร(อังกฤษ) และประเทศอื่นๆที่ได้รับอิทธิพลจากอังกฤษ คือ แคนาดา อินเดีย สหรัฐอเมริกา อินเดีย บังกลาเทศ มาเลเซีย และไทย (ในการเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. 2540)
1.2 ระบบเสียงข้างมากธรรมดา มีตัวแทนมากกว่า 1 คน (Block Vote)
เป็นระบบที่ใช้หลักเสียงข้างมากธรรมดาเช่นเดียวกับระบบแรก ต่างกันตรงที่แต่ละเขตการเลือกตั้งมีผู้แทนได้มากกว่า 1 คน (Multi-Member District) เช่น บางเขต 2 คน บางเขต 3 คน เป็นต้น ผู้มีสิทธิเลือกตั้งสามารถลงคะแนนเสียงได้เท่ากับจำนวนผู้แทนที่พึงมีได้ในเขตเลือกตั้งนั้น หรืออาจลงคะแนนเสียงผู้สมัครเพียงรายใดรายหนึ่งก็ได้ ผู้มีสิทธิเลือกตั้งอาจเลือกผู้สมัครจากพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่งทั้งหมด หรือที่เรียกว่ายกทีม หรือเลือกคละกันไปจากต่างพรรคก็ได้ ผู้ได้รับการเลือกตั้งคือผู้ที่ได้คะแนนสูงเรียงลำดับตามจำนวนผู้แทนที่พึงมีในเขตเลือกตั้งนั้น ประเทศที่ใช้ระบบนี้มักเป็นประเทศที่พรรคการเมืองมีความอ่อนแอหรือไม่สามารถดำรงความเป็นพรรคให้ยั่งยืนในสังคมได้ เช่น เลบานอน มัลดีฟส์ ซีเรีย ฟิลิปปินส์ และไทย (นับตั้งแต่อดีตเรื่อยมาก่อนถึงรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 และกลับมาใช้ระบบนี้อีกครั้งในการเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550)
1.3 ระบบเสียงข้างมากธรรมดาแต่เลือกเป็นพรรค(Party Block Vote)
เป็นระบบที่แต่ละเขตเลือกตั้งมีผู้แทนมากกว่า 1 คน แต่ผู้มีสิทธิเลือกตั้งสามารถเลือกได้เพียง 1 เสียงเท่านั้น โดยเป็นการเลือกพรรค ซึ่งส่งผู้สมัครเป็นบัญชีรายชื่อ ไม่ใช่เลือกตัวผู้สมัครเป็นรายบุคคล พรรคการเมืองใดได้คะแนนสูงสุดในเขตเลือกตั้ง ผู้สมัครของพรรคตามบัญชีรายชื่อในเขตเลือกตั้งนั้นก็ได้รับการเลือกตั้งทั้งหมด ประเทศที่ใช้การเลือกตั้งแบบนี้ได้แก่ คาเมรูน ชาด จิบุตี และสิงคโปร์
2. ระบบการเลือกตั้งแบบเสียงข้างมากเด็ดขาด หรือระบบเสียงส่วนใหญ่(Majority System)
ระบบเลือกตั้งแบบนี้มีข้อแตกต่างจากการเลือกตั้งแบบเสียงข้างมากธรรมดา ตรงที่ผู้ชนะการเลือกตั้งต้องได้คะแนนเสียงเกินครึ่งของผู้ใช้สิทธิเลือกตั้งหรือได้เสียงส่วนใหญ่ ซึ่งสะท้อนถึงความเป็นตัวแทนของพลเมืองส่วนใหญ่ในเขตเลือกตั้งอย่างแท้จริง
ระบบนี้แบ่งออกเป็น 2 ระบบย่อยดังนี้
2.1 ระบบทางเลือกหรือการจัดลำดับความชอบ (The Alternative Vote หรือ Preference Vote)
เป็นระบบใช้สำหรับการจัดเขตเลือกตั้งให้มีผู้แทนเขตละ 1 คน เช่นเดียวกับระบบผู้ได้คะแนนเสียงสูงสุดเป็นผู้ชนะการเลือกตั้ง ข้อแตกต่างที่สำคัญคือ ระบบนี้ผู้ใช้สิทธิเลือกตั้งจะเลือกผู้สมัครด้วยการทำเครื่องหมายเรียงลำดับตามความชอบมากที่สุดจนถึงชอบน้อยที่สุด ตั้งแต่ลำดับที่ 1 จนกระทั่งถึงลำดับสุดท้ายตามจำนวนของผู้สมัครในเขตเลือกตั้ง การหาผู้ชนะเลือกตั้ง หากผู้สมัครรายใดได้คะแนนในลำดับที่ 1 เกิน 50% ก็ถือว่าเป็นผู้ชนะการเลือกตั้งโดยทันที แต่หากไม่มีผู้สมัครรายใดได้คะแนนเกิน 50 %.ในการนับคะแนนครั้งนี้ ผู้สมัครที่ได้รับเลือกเป็นลำดับที่ 1 ที่ได้คะแนนน้อยที่สุดจะถูกตัดออกไป และต่อไปจะเป็นการนับคะแนนโดยการพิจารณาว่าผู้สมัครรายใดได้รับการเลือกตั้งในลำดับที่ 2 ที่ได้คะแนนเกิน 50 % แต่หากยังไม่มีผู้สมัครรายใดได้คะแนนเสียงเกินครึ่งของผู้ใช้สิทธิเลือกตั้งก็จะใช้กระบวนการดังกล่าวนี้จนกว่าจะได้ผู้แทนในเขตเลือกตั้งนั้น ประเทศที่ใช้ระบบนี้ ได้แก่ ออสเตรเลีย ฟิจิ ปาปัวนิวกินี สาธารณรัฐไอร์แลนด์
2.1 ระบบการเลือกตั้ง 2 รอบ (The Two-Round System)
ในกรณีที่การเลือกตั้งในรอบแรกไม่มีผู้สมัครรายใดได้คะแนนเสียงเกินครึ่งของผู้ใช้สิทธิ์เลือกตั้ง ระบบนี้จะจัดให้มีการเลือกตั้งในรอบที่ 2 หลังจากการเลือกตั้งในรอบแรกผ่านพ้นไป ซึ่งมักจะจัดขึ้นใน 1 สัปดาห์หลังจากการเลือกตั้งรอบแรก เพื่อหาผู้สมัครที่ได้คะแนนเสียงเกินครึ่งของผู้ใช้สิทธิเลือกตั้งเป็นผู้แทนต่อไป โดยในการเลือกตั้งรอบที่ 2 ผู้มีสิทธิลงแข่งขันคือผู้สมัครที่มีสิทธิลงแข่งขันในการเลือกตั้งรอบ 2 คือ ผู้สมัครที่ได้รับคะแนนเสียงเลือกตั้งในรอบแรก 12.5 % ขึ้นไป ทำให้มีผู้สมัครมากกว่า 2 คน โดยในการเลือกตั้งรอบที่ 2 ใช้ระบบการเลือกตั้งแบบเสียงข้างมากธรรมดา คือ ผู้สมัครคนใดมีคะแนนสูงสุด เป็นผู้ชนะการเลือกตั้ง โดยไม่จำเป็นต้องได้คะแนนเกินครึ่งหนึ่งของผู้ใช้สิทธิเลือกตั้งทั้งหมด
3.ระบบการเลือกตั้งแบบสัดส่วน (Proportional Representation System)
ระบบนี้มีลักษณะสำคัญคือ การแบ่งคะแนนเสียงที่ผู้ใช้สิทธิเลือกตั้งลงให้กับพรรคการเมืองให้สอดสัมพันธ์กับสัดส่วนที่นั่งของตัวแทนที่พึงมีในเขตเลือกตั้ง ทำให้ทุกคะแนนเสียงมีความหมายไม่สูญเปล่า เป็นเรื่องที่แตกต่างจากระบบการเลือกตั้งแบบเสียงข้างมากธรรมดา ระบบสัดส่วนนี้จึงมีข้อดีอยู่หลายประการ ประเทศที่ใช้ระบบลงคะแนนเสียงแบบสัดส่วนจึงมีมากถึง 72 ประเทศทั่วโลก ทั้งประเทศที่มีการปกครองแบบประชาธิปไตยอย่างยาวนานแล้ว 23 ประเทศ และประเทศที่เป็นประชาธิปไตยใหม่ๆประมาณ 10ปีขึ้นไป
ระบบนี้ยังแยกย่อยออกเป็น 2 แบบคือ
3.1 ระบบบัญชีรายชื่อ (Party List)
เป็นระบบสำหรับการเลือกตั้งที่กำหนดให้เขตเลือกตั้งมีผู้แทนได้หลายคน (Multi-Member District) โดยพรรคจะส่งผู้สมัครเรียงตามลำดับในบัญชีรายชื่อไม่เกินจำนวนของผู้แทนที่พึงมีได้ในเขตเลือกตั้งนั้น ผู้ใช้สิทธิเลือกตั้งจะเลือกเป็นพรรค ไม่ใช่เลือกเป็นรายบุคคล จากนั้นจึงนำคะแนนที่แต่ละพรรคได้รับการเลือกตั้งมาคำนวณ เพื่อหาสัดส่วนว่าแต่ละพรรคจะได้ที่นั่งกี่ที่นั่ง และใครบ้างที่ได้รับการเลือกตั้งตามลำดับที่ระบุในบัญชีรายชื่อ ประเทศที่ใช้ระบบสัดส่วนแบบระบบบัญชีรายชื่อมี 70 ประเทศทั่วโลก
3.2 ระบบถ่ายโอนคะแนนเสียง(Single Transferable Vote)
ระบบนี้ใช้สำหรับการเลือกตั้งที่กำหนดให้เขตเลือกตั้งมีผู้แทนได้หลายคน(Multi-Member District) เช่นเดียวกับระบบบัญชีรายชื่อ โดยผู้ใช้สิทธิเลือกตั้งจะเลือกผู้สมัครด้วยการทำเครื่องหมายในบัตรเลือกตั้งเรียงลำดับตามความชอบแบบเดียวกับที่ใช้ในระบบทางเลือกหรือการจัดระดับความชอบ แต่ไม่จำเป็นต้องจัดลำดับความชอบผู้สมัครทุกคน อาจเลือกผู้สมัครคนใดคนหนึ่งเพียงคนเดียวก็ได้
4. ระบบการเลือกตั้งแบบผสม(Mixed System)
เป็นระบบการเลือกตั้งที่พยายามนำเอาข้อดีของระบบการเลือกตั้งแบบเสียงข้างมากธรรมดา เสียงข้างมากเด็ดขาด และระบบสัดส่วนมาใช้ โดยในการเลือกตั้งแต่ละครั้งจะนำ 2 ระบบมาใช้ร่วมกัน ระบบการเลือกตั้งแบบผสม แบ่งออกเป็น ระบบผสมเขตกับสัดส่วน(Mixed Member Proportional System) และระบบคู่ขนานระหว่างเขตกับสัดส่วน(Parallel System)
---------------------------
คำถามท้ายบท
1.จงอธิบายถึงข้อแตกต่างระหว่าง ระบบการเลือกตั้งแบบเสียงข้างมากธรรมดา
กับ ระบบการเลือกตั้งแบบเสียงข้างมากเด็ดขาด มาแต่พอสังเขป
2.ระบบการเลือกตั้งแบบสัดส่วนเป็นอย่างไร จงอธิบายมาแต่พอสังเขป
3. First-past-the-post (abbreviated FPTP or FPP) voting is a generic term referring to an election won by the highest polling candidate(s). The first-past-the-post voting method, although similar in design, does not relate solely to plurality voting. Also known as the winner-take-all system where the winner with the most votes gets elected.
3.1 จงแปลประโยคภาษาอังกฤษเป็นไทยให้ได้ความสละสลวย
3.2 จงใช้ข้อมูลที่ได้จากการแปลเป็นตัวช่วยในการตอบคำถามว่า “ ระบบเลือกตั้งแบบ First-past-the-post มีลักษณะเป็นอย่างไร”