วันอังคารที่ 1 มีนาคม พ.ศ. 2554

สัปดาห์ที่ 13 : ระบบการเลือกตั้ง


ระบบการเลือกตั้ง

ที่จะนำเสนอในสัปดาห์นี้ยังเป็นเรื่องในหมวดของ การเลือกตั้ง โดยมุ่งไปที่ระบบการเลือกตั้ง ที่มีสาระครอบคลุมหัวข้อย่อยดังนี้:
1.ระบบการเลือกตั้งแบบเสียงข้างมากธรรมดา
2.ระบบการเลือกตั้งแบบเสียงข้างมากเด็ดขาด
3.ระบบการเลือกตั้งแบบสัดส่วน
4.ระบบการเลือกตั้งผสม

------------------------
ระบบการเลือกตั้ง

 ระบบการเลือกตั้ง(Electoral System) ที่ประเทศต่างๆนำมาใช้ในการเลือกตั้งผู้แทนมีหลายระบบดังนี้:

1.ระบบการเลือกตั้งแบบเสียงข้างมากธรรมดา(Plurality System)
เป็นระบบที่ผู้สมัครรับเลือกตั้งที่ได้คะแนนสูงสุดจะเป็นผู้ชนะการเลือกตั้ง โดยไม่คำนึงว่าผู้ชนะการเลือกตั้งจะได้คะแนนเกินครึ่งของผู้ใช้สิทธิเลือกตั้งทั้งหมดหรือไม่  ปกติแล้วระบบการเลือกตั้งแบบเสียงข้างมากธรรมดานี้มักจะใช้สำหรับเขตเลือกตั้งที่มีผู้แทนได้ 1 คน (Single-Member District) แต่ก็มีหลายประเทศที่ใช้ระบบนี้กับเขตเลือกตั้งที่มีผู้แทนได้มากกว่า 1 คน (Multi-Member District) ระบบนี้แยกออกเป็น 3 ระบบย่อยดังนี้:

1.1   ระบบผู้ได้คะแนนสูงสุดชนะเลือกตั้ง(First-Past-the-Post System)
เป็นระบบที่มีรูปแบบง่ายต่อความเข้าใจของผูใช้สิทธิเลือกตั้ง และสะดวกต่อฝ่ายจัดการเลือกตั้ง เพราะผู้ชนะเลือกตั้งคือผู้ได้คะแนนสูงสุดในเขตเลือกตั้ง ซึ่งมีผู้แทนได้เพียง 1 คน หรือเขตละคน(Single-Member District) เท่านั้น ประเทศที่ใช้ระบบนี้ได้แก่ สหราชอาณาจักร(อังกฤษ) และประเทศอื่นๆที่ได้รับอิทธิพลจากอังกฤษ คือ แคนาดา อินเดีย สหรัฐอเมริกา อินเดีย บังกลาเทศ มาเลเซีย และไทย (ในการเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. 2540)

1.2 ระบบเสียงข้างมากธรรมดา มีตัวแทนมากกว่า 1 คน (Block Vote)
เป็นระบบที่ใช้หลักเสียงข้างมากธรรมดาเช่นเดียวกับระบบแรก ต่างกันตรงที่แต่ละเขตการเลือกตั้งมีผู้แทนได้มากกว่า 1 คน (Multi-Member District) เช่น บางเขต 2 คน บางเขต 3 คน เป็นต้น ผู้มีสิทธิเลือกตั้งสามารถลงคะแนนเสียงได้เท่ากับจำนวนผู้แทนที่พึงมีได้ในเขตเลือกตั้งนั้น หรืออาจลงคะแนนเสียงผู้สมัครเพียงรายใดรายหนึ่งก็ได้ ผู้มีสิทธิเลือกตั้งอาจเลือกผู้สมัครจากพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่งทั้งหมด หรือที่เรียกว่ายกทีม หรือเลือกคละกันไปจากต่างพรรคก็ได้ ผู้ได้รับการเลือกตั้งคือผู้ที่ได้คะแนนสูงเรียงลำดับตามจำนวนผู้แทนที่พึงมีในเขตเลือกตั้งนั้น  ประเทศที่ใช้ระบบนี้มักเป็นประเทศที่พรรคการเมืองมีความอ่อนแอหรือไม่สามารถดำรงความเป็นพรรคให้ยั่งยืนในสังคมได้ เช่น เลบานอน มัลดีฟส์ ซีเรีย ฟิลิปปินส์ และไทย (นับตั้งแต่อดีตเรื่อยมาก่อนถึงรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 และกลับมาใช้ระบบนี้อีกครั้งในการเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550)
1.3 ระบบเสียงข้างมากธรรมดาแต่เลือกเป็นพรรค(Party Block Vote)

เป็นระบบที่แต่ละเขตเลือกตั้งมีผู้แทนมากกว่า 1 คน แต่ผู้มีสิทธิเลือกตั้งสามารถเลือกได้เพียง 1 เสียงเท่านั้น โดยเป็นการเลือกพรรค ซึ่งส่งผู้สมัครเป็นบัญชีรายชื่อ ไม่ใช่เลือกตัวผู้สมัครเป็นรายบุคคล พรรคการเมืองใดได้คะแนนสูงสุดในเขตเลือกตั้ง ผู้สมัครของพรรคตามบัญชีรายชื่อในเขตเลือกตั้งนั้นก็ได้รับการเลือกตั้งทั้งหมด ประเทศที่ใช้การเลือกตั้งแบบนี้ได้แก่ คาเมรูน ชาด จิบุตี และสิงคโปร์

2. ระบบการเลือกตั้งแบบเสียงข้างมากเด็ดขาด หรือระบบเสียงส่วนใหญ่(Majority System)
ระบบเลือกตั้งแบบนี้มีข้อแตกต่างจากการเลือกตั้งแบบเสียงข้างมากธรรมดา ตรงที่ผู้ชนะการเลือกตั้งต้องได้คะแนนเสียงเกินครึ่งของผู้ใช้สิทธิเลือกตั้งหรือได้เสียงส่วนใหญ่ ซึ่งสะท้อนถึงความเป็นตัวแทนของพลเมืองส่วนใหญ่ในเขตเลือกตั้งอย่างแท้จริง

ระบบนี้แบ่งออกเป็น 2 ระบบย่อยดังนี้

2.1 ระบบทางเลือกหรือการจัดลำดับความชอบ (The Alternative Vote หรือ Preference Vote)
เป็นระบบใช้สำหรับการจัดเขตเลือกตั้งให้มีผู้แทนเขตละ 1 คน เช่นเดียวกับระบบผู้ได้คะแนนเสียงสูงสุดเป็นผู้ชนะการเลือกตั้ง  ข้อแตกต่างที่สำคัญคือ ระบบนี้ผู้ใช้สิทธิเลือกตั้งจะเลือกผู้สมัครด้วยการทำเครื่องหมายเรียงลำดับตามความชอบมากที่สุดจนถึงชอบน้อยที่สุด ตั้งแต่ลำดับที่ 1 จนกระทั่งถึงลำดับสุดท้ายตามจำนวนของผู้สมัครในเขตเลือกตั้ง การหาผู้ชนะเลือกตั้ง หากผู้สมัครรายใดได้คะแนนในลำดับที่ 1 เกิน 50% ก็ถือว่าเป็นผู้ชนะการเลือกตั้งโดยทันที แต่หากไม่มีผู้สมัครรายใดได้คะแนนเกิน 50 %.ในการนับคะแนนครั้งนี้  ผู้สมัครที่ได้รับเลือกเป็นลำดับที่ 1 ที่ได้คะแนนน้อยที่สุดจะถูกตัดออกไป และต่อไปจะเป็นการนับคะแนนโดยการพิจารณาว่าผู้สมัครรายใดได้รับการเลือกตั้งในลำดับที่ 2 ที่ได้คะแนนเกิน 50 % แต่หากยังไม่มีผู้สมัครรายใดได้คะแนนเสียงเกินครึ่งของผู้ใช้สิทธิเลือกตั้งก็จะใช้กระบวนการดังกล่าวนี้จนกว่าจะได้ผู้แทนในเขตเลือกตั้งนั้น ประเทศที่ใช้ระบบนี้ ได้แก่ ออสเตรเลีย ฟิจิ ปาปัวนิวกินี สาธารณรัฐไอร์แลนด์

2.1 ระบบการเลือกตั้ง 2 รอบ (The Two-Round System)
ในกรณีที่การเลือกตั้งในรอบแรกไม่มีผู้สมัครรายใดได้คะแนนเสียงเกินครึ่งของผู้ใช้สิทธิ์เลือกตั้ง ระบบนี้จะจัดให้มีการเลือกตั้งในรอบที่ 2 หลังจากการเลือกตั้งในรอบแรกผ่านพ้นไป ซึ่งมักจะจัดขึ้นใน 1 สัปดาห์หลังจากการเลือกตั้งรอบแรก เพื่อหาผู้สมัครที่ได้คะแนนเสียงเกินครึ่งของผู้ใช้สิทธิเลือกตั้งเป็นผู้แทนต่อไป โดยในการเลือกตั้งรอบที่ 2 ผู้มีสิทธิลงแข่งขันคือผู้สมัครที่มีสิทธิลงแข่งขันในการเลือกตั้งรอบ 2 คือ ผู้สมัครที่ได้รับคะแนนเสียงเลือกตั้งในรอบแรก 12.5 % ขึ้นไป ทำให้มีผู้สมัครมากกว่า 2 คน โดยในการเลือกตั้งรอบที่ 2 ใช้ระบบการเลือกตั้งแบบเสียงข้างมากธรรมดา คือ ผู้สมัครคนใดมีคะแนนสูงสุด เป็นผู้ชนะการเลือกตั้ง โดยไม่จำเป็นต้องได้คะแนนเกินครึ่งหนึ่งของผู้ใช้สิทธิเลือกตั้งทั้งหมด

 3.ระบบการเลือกตั้งแบบสัดส่วน (Proportional Representation System)
ระบบนี้มีลักษณะสำคัญคือ การแบ่งคะแนนเสียงที่ผู้ใช้สิทธิเลือกตั้งลงให้กับพรรคการเมืองให้สอดสัมพันธ์กับสัดส่วนที่นั่งของตัวแทนที่พึงมีในเขตเลือกตั้ง ทำให้ทุกคะแนนเสียงมีความหมายไม่สูญเปล่า เป็นเรื่องที่แตกต่างจากระบบการเลือกตั้งแบบเสียงข้างมากธรรมดา ระบบสัดส่วนนี้จึงมีข้อดีอยู่หลายประการ ประเทศที่ใช้ระบบลงคะแนนเสียงแบบสัดส่วนจึงมีมากถึง 72 ประเทศทั่วโลก ทั้งประเทศที่มีการปกครองแบบประชาธิปไตยอย่างยาวนานแล้ว 23 ประเทศ และประเทศที่เป็นประชาธิปไตยใหม่ๆประมาณ 10ปีขึ้นไป

ระบบนี้ยังแยกย่อยออกเป็น 2  แบบคือ

3.1 ระบบบัญชีรายชื่อ (Party List)
เป็นระบบสำหรับการเลือกตั้งที่กำหนดให้เขตเลือกตั้งมีผู้แทนได้หลายคน (Multi-Member District) โดยพรรคจะส่งผู้สมัครเรียงตามลำดับในบัญชีรายชื่อไม่เกินจำนวนของผู้แทนที่พึงมีได้ในเขตเลือกตั้งนั้น ผู้ใช้สิทธิเลือกตั้งจะเลือกเป็นพรรค ไม่ใช่เลือกเป็นรายบุคคล จากนั้นจึงนำคะแนนที่แต่ละพรรคได้รับการเลือกตั้งมาคำนวณ เพื่อหาสัดส่วนว่าแต่ละพรรคจะได้ที่นั่งกี่ที่นั่ง และใครบ้างที่ได้รับการเลือกตั้งตามลำดับที่ระบุในบัญชีรายชื่อ ประเทศที่ใช้ระบบสัดส่วนแบบระบบบัญชีรายชื่อมี 70 ประเทศทั่วโลก

3.2 ระบบถ่ายโอนคะแนนเสียง(Single Transferable Vote)
ระบบนี้ใช้สำหรับการเลือกตั้งที่กำหนดให้เขตเลือกตั้งมีผู้แทนได้หลายคน(Multi-Member District) เช่นเดียวกับระบบบัญชีรายชื่อ โดยผู้ใช้สิทธิเลือกตั้งจะเลือกผู้สมัครด้วยการทำเครื่องหมายในบัตรเลือกตั้งเรียงลำดับตามความชอบแบบเดียวกับที่ใช้ในระบบทางเลือกหรือการจัดระดับความชอบ แต่ไม่จำเป็นต้องจัดลำดับความชอบผู้สมัครทุกคน อาจเลือกผู้สมัครคนใดคนหนึ่งเพียงคนเดียวก็ได้

4. ระบบการเลือกตั้งแบบผสม(Mixed System)
เป็นระบบการเลือกตั้งที่พยายามนำเอาข้อดีของระบบการเลือกตั้งแบบเสียงข้างมากธรรมดา เสียงข้างมากเด็ดขาด และระบบสัดส่วนมาใช้  โดยในการเลือกตั้งแต่ละครั้งจะนำ 2 ระบบมาใช้ร่วมกัน ระบบการเลือกตั้งแบบผสม แบ่งออกเป็น ระบบผสมเขตกับสัดส่วน(Mixed Member Proportional System) และระบบคู่ขนานระหว่างเขตกับสัดส่วน(Parallel System)

---------------------------
คำถามท้ายบท

1.จงอธิบายถึงข้อแตกต่างระหว่าง ระบบการเลือกตั้งแบบเสียงข้างมากธรรมดา
กับ ระบบการเลือกตั้งแบบเสียงข้างมากเด็ดขาด มาแต่พอสังเขป

2.ระบบการเลือกตั้งแบบสัดส่วนเป็นอย่างไร จงอธิบายมาแต่พอสังเขป

3. First-past-the-post (abbreviated FPTP or FPP) voting is a generic term referring to an election won by the highest polling candidate(s). The first-past-the-post voting method, although similar in design, does not relate solely to plurality voting. Also known as the winner-take-all system where the winner with the most votes gets elected.

3.1 จงแปลประโยคภาษาอังกฤษเป็นไทยให้ได้ความสละสลวย

3.2 จงใช้ข้อมูลที่ได้จากการแปลเป็นตัวช่วยในการตอบคำถามว่า ระบบเลือกตั้งแบบ First-past-the-post มีลักษณะเป็นอย่างไร

สัปดาห์ที่ 12 : ลักษณะทั่วไปของการเลือกตั้ง


ลักษณะทั่วไปของการเลือกตั้ง

เราได้นำเสนอบทเรียนที่เกี่ยวข้องกับวิชานี้ไปแล้ว 2 หมวดใหญ่ คือ หมวดว่าด้วยเรื่องพรรคการเมือง และหมวดว่าด้วยกลุ่มผลประโยชน์ ต่อไปจะได้ว่าด้วยเรื่องสุดท้ายของวิชาคือหมวดว่าด้วยการเลือกตั้ง  สำหรับในสัปดาห์นี้จะนำเสนอเรื่องแรกของการเลือกตั้งในหัวข้อว่า ลักษณะทั่วไปของการเลือกตั้งที่แตกประเด็นเป็นหัวข้อย่อย 9 รายการดังนี้
1.ความหมายของการเลือกตั้ง
2.อุดมการณ์ ของการเลือกตั้ง
3.ประวัติการเลือกตั้ง
4.สิทธิในการออกเสียงเลือกตั้ง
5.ใครบ้างที่ต้องผ่านการเลือกตั้ง
6.การลงประชามติ
7.สิทธิในการลงคะแนนเสียง
8.การรณรงค์หาเสียงทางการเมือง
9. การโกงการเลือกตั้ง
10.บทบาทของการเลือกตั้ง

---------------------------

ความหมายของการเลือกตั้ง
การเลือกตั้ง (Election) คือ กระบวนการตัดสินใจอย่างเป็นทางการที่ประชาชนใช้ในการเลือกบุคคลที่จะเข้าดำรงตำแหน่งสาธารณะหรือตำแหน่งทางการเมือง  การเลือกตั้งได้ถูกใช้เป็นกลไกปกติสำหรับการทำงานของระบอบประชาธิปไตยแบบมีผู้แทนนับตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 17 เป็นต้นมา การเลือกตั้งนี้อาจเป็นการเลือกตั้งเพื่อการเข้าสู่ตำแหน่งของฝ่ายนิติบัญญัติ  ฝ่ายบริหาร และฝ่ายตุลาการ ทั้งอาจเป็นการเลือกตั้งสำหรับตำแหน่งของรัฐบาลในระดับภูมิภาคและระดับท้องถิ่นก็ได้

การใช้การเลือกตั้งอย่างเป็นสากลสำหรับเป็นเครื่องมือในการเลือกผู้แทนในระบอบประชาธิปไตยสมัยใหม่เป็นสิ่งที่ขัดแย้งกับหลักปฏิบัติตามแบบประชาธิปไตยของนครรัฐเอเธนส์ของกรีซโบราณ  ซึ่งสมัยกรีซโบราณถือว่าการเลือกตั้งเป็นสถาบันของพวกคณาธิปไตย และในการนำคนเข้าสู่ตำแหน่งทางการเมืองนั้นเขาจะใช้วิธีจับสลาก กล่าวคือใครที่จับสลากได้คนนั้นก็จะเข้าดำรงตำแหน่งทางการเมือง


อุดมการณ์ ของการเลือกตั้ง
ในหนังสือเรื่อง “The Spirit of Laws” มองเตสกิเออร์ (Montesquieu) กล่าวว่า ในกรณีของการเลือกตั้งไม่ว่าจะเป็นการเลือกตั้งในระบอบสาธารณรัฐหรือในระบอบประชาธิปไตย ผู้ลงคะแนนเสียงมีทางเลือกระหว่างการเป็นผู้ปกครองของประเทศกับการเป็นผู้ถูกปกครองของรัฐบาล  จากการกระทำด้วยการลงคะแนนเลือกตั้งนี้ เองประชาชนได้ปฏิบัติการในฐานะเป็นองค์อธิปัตย์(ผู้ปกครอง) โดยทำหน้าที่เป็นนายในการเลือกคนที่จะมาเป็นรัฐบาลของพวกเขา


ประวัติการเลือกตั้ง
การเลือกตั้งถูกนำมาใช้ในประวัติศาสตร์ยุคต้นๆอย่างเช่นในยุคกรีซโบราณและยุคโรมันโบราณ และตลอดช่วงยุคกลางในการเลือกผู้นำต่างๆ อย่างเช่น การเลือกตั้งพระจักรพรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ (the Holy Roman Emperor) และการเลือกตั้งพระสันตะปาปา (Pope) นอกจากนั้นแล้วการเลือกตั้งก็ยังถูกนำมาใช้ในการเลือกองค์ราชาด้วยองค์คณะราชาในประเทศอินเดียโบราณ  ชาติอาหรับโบราณใช้การเลือกตั้งนี้ในการคัดเลือกกาหลิบ (Caliph) อุธมาน (Uthman) อาลี (Ali) ในช่วงยุคกลางของมุสลิม (Rashidun Caliphate) และใช้การเลือกตั้งนี้ในการเลือกกษัตริย์ในราชวงศ์โคปาละของคาบสมุทรเบงกอล การเลือกตั้งในสมัยใหม่ ซึ่งประกอบด้วยการเลือกตั้งเจ้าหน้าที่ของรัฐบาล เริ่มเกิดขึ้นในคริสต์ศตวรรษที่ 17  เมื่อแนวความคิดในเรื่องรัฐบาลแบบมีผู้แทนได้ฝังรากลงในทวีปยุโรปและทวีปอเมริกาเหนือ


สิทธิในการออกเสียงเลือกตั้ง
คำถามเกี่ยวกับสิทธิการออกเสียงเลือกตั้ง (Suffrage) โดยเฉพาะอย่างยิ่งสิทธิการออกเสียงเลือกตั้งของชนกลุ่มน้อยเป็นเรื่องที่ครอบงำอยู่ในประวัติศาสตร์ของการเลือกตั้งมาตลอด พวกที่มีเพศชายซึ่งเป็นกลุ่มครอบงำทางวัฒนธรรมในทวีปยุโรปและทวีปอเมริกาเหนือมักเป็นพวกที่มีสิทธิในการออกเสียงเลือกตั้ง และก็ยังคงเป็นเช่นนั้นในอีกหลายประเทศ ในการเลือกตั้งในประเทศต่างๆในสมัยก่อนอย่างเช่นในสหราชอาณาจักรและสหรัฐอเมริกามักจะถูกครอบงำโดยพวกผู้ชายที่เป็นเจ้าของที่ดินและพวกชนชั้นปกครอง อย่างไรก็ตามในราวปี ค.ศ. 1920 ระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยในยุโรปตะวันตกและในทวีปอเมริกาเหนือได้ให้สิทธิในการออกเสียงเลือกตั้งแก่พวกที่มีเพศชายทุกคน(ยกเว้นเฉพาะประเทศสวิตเซอร์แลนด์) และหลายประเทศได้เริ่มที่จะพิจารณาในการให้สิทธิออกเสียงเลือกตั้งแก่พวกที่มีเพศหญิง  แม้ว่าในทางกฎหมายจะให้สิทธิแก่พวกเพศชายทุกคนแต่ในทางปฏิบัติมักจะมีการตั้งกำแพงทางการเมืองเพื่อป้องกันมิให้ทุกคนได้ไปเลือกตั้ง


ใครบ้างที่ต้องผ่านการเลือกตั้ง
ตำแหน่งในรัฐบาลที่ต้องผ่านการเลือกตั้งนั้นจะแตกต่างกันไปในแต่ละที่แต่ละประเทศ  ในระบอบประชาธิปไตยแบบมีผู้แทนอย่างเช่นในกรณีของสหรัฐอเมริกานั้น  บางตำแหน่งไม่ได้มาโดยผ่านการเลือกตั้งโดยเฉพาะอย่างยิ่งตำแหน่งของผู้ที่ต้องมีทักษะอย่างใดอย่างหนึ่งเป็นการเฉพาะ ยกตัวอย่างเช่นตำแหน่งของของตุลาการปกติจะได้รับการแต่งตั้งยิ่งกว่าจะใช้วิธีเลือกตั้งทั้งนี้เพื่อช่วยปกป้องมิให้เกิดความลำเอียงในการปฏิบัติหน้าที่ แต่ก็มีข้อยกเว้นบ้างในแง่ของการปฏิบัติ  ตัวอย่างคือตุลาการบางตำแหน่งในสหรัฐอเมริกาจะได้รับการเลือกตั้ง ในขณะที่นายพลทหารของนครรัฐเอเธนส์ของกรีซโบราณจะขึ้นสู่ตำแหน่งโดยการเลือกตั้ง

ในบางกรณีอย่างเช่นในระบอบประชาธิปไตยของโซเวียตนั้น อาจจะมีคนกลางระหว่างผู้ลมัครรับเลือกตั้งกับผู้ลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง แต่ในระบอบประชาธิปไตยแบบมีผู้แทนส่วนใหญ่แล้วระดับของการเลือกตั้งโดยอ้อมแบบนี้จะเป็นแบบพิธีรีตองเท่านั้นเอง ยกตัวอย่างเช่น ประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกาได้รับการเลือกตั้งโดยคณะผู้เลือกตั้งที่เรียกว่า Electoral College และในระบบรัฐสภาของสหราชอาณาจักร นายกรัฐมนตรีได้รับเลือกอย่างเป็นทางการจากประมุขแห่งรัฐ  ซึ่งในความเป็นจริงแล้วเป็นผู้ได้รับเลือกจากฝ่ายนิติบัญญัติหรือโดยพรรคการเมือง


การลงประชามติ
การลงประชามติ(Referendum) เป็นเครื่องมือแบบประชาธิปไตยอย่างหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้ง ซึ่งเป็นวิธีที่ผู้ลงคะแนนเสียงลงคะแนนเพื่อยอมรับหรือเพื่อปฏิเสธข้อเสนอเฉพาะเจาะจงอย่างใดอย่างหนึ่ง ซึ่งอาจจะเป็นกฎหมายหรือนโยบายอย่างใดอย่างหนึ่ง  อันมิใช่เรื่องนโยบายทั่วไปหรือผู้สมัครคนใดคนหนึ่งหรือพรรคการเมืองพรรคใดพรรคหนึ่ง การลงประชามติปกติรัฐบาลจะนำมาใช้โดยผ่านทางฝ่ายนิติบัญญัติ แต่ก็มีประเทศที่มีระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยหลายประเทศอนุญาตให้พลเมืองของตนร้องขอให้มีการลงประชามติโดยตรง ซึ่งเรียกวิธีนี้ว่าการริเริ่ม (Initiatives)

การลงประชามติ เป็นระบบที่สอดคล้องและมีความสำคัญในประชาธิปไตยโดยตรง (Direct democracies)  อย่างเช่นที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์   แต่ระบบของสวิสในระดับพื้นฐานแล้วยังคงเป็นแบบประชาธิปไตยโดยอ้อมหรือประชาธิปไตยแบบมีผู้แทน ในประชาธิปไตยแบบโดยตรงส่วนใหญ่นั้น ทุกคนสามารถลงคะแนนเสียงในเรื่องใดก็ได้  เป็นแบบที่มีความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดกับการลงประชามติและอาจกระทำในรูปของการตัดสินใจแบบฉันทามติ (Consensus decision-making)  เป็นแบบเดียวกับที่เคยเป็นมาในระบบกรีกโบราณ คือทุกคนอาจอภิปรายเรื่องใดเรื่อหนึ่งจนกระทั่งสามารถบรรลุถึงฉันทามติได้  การที่จะเกิดฉันทามติขึ้นมาได้นั้นก็หมายถึงว่าจะต้องมีการถกแถลงและอภิปรายกันอย่างยาวนาน  ผลก็คือว่าผู้ที่มีความสนใจจริงๆเท่านั้นถึงจะเข้าร่วมในการอภิปรายและร่วมในการลงคะแนนเสียง  ในระบบที่ว่ามานี้ไม่มีความจำเป็นที่จะกำหนดอายุสำหรับผู้เข้าร่วมอภิปรายเพราะพวกเด็กๆเมื่ออภิปรายไปๆปกติจะเกิดความเบื่อหน่ายไปและเลิกราไปก่อน  แต่ระบบนี้จะเป็นไปได้ก็เฉพาะเมื่อนำไปใช้ในเรื่องเล็กๆน้อยเท่านั้น


สิทธิในการลงคะแนนเสียง
ปัญหาที่ว่าใครคือผู้ที่อาจลงคะแนนเสียงเลือกตั้งได้ก็เป็นประเด็นสำคัญในการเลือกตั้งอีกเหมือนกัน  ซึ่งตามปกติแล้วผู้ที่จะออกเสียงเลือกตั้งนั้นโดยทั่วไปแล้วจะไม่หมายรวมถึงประชากรทั้งหมด ยกตัวอย่างเช่น มีหลายประเทศมีข้อห้ามมิให้คนที่วิกลจริตลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง  และประเทศส่วนใหญ่ก็จะมีบทบัญญัติเกี่ยวกับอายุขั้นต่ำของผู้ที่จะลงคะแนนเสียงเลือกตั้งเอาไว้ด้วย

ในทางประวัติศาสตร์นั้น ก็ยังมีบุคคลกลุ่มอื่นที่ถูกกีดกันมิให้ลงคะแนนเสียงเลือกตั้งด้วย อย่างเช่น ประชาธิปไตยของกรุงเอเธนส์ในสมัยโบราณมิได้อนุญาตให้พลเมืองที่มีเพศหญิง ชาวต่างประเทศ หรือพวกทาสไปลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง  รัฐธรรมนูญดั้งเดิมของสหรัฐอเมริกาก็ปล่อยให้ประเด็นเรื่องสิทธิการเลือกตั้งนี้เป็นเรื่องที่แต่ละรัฐจะพิจารณากันเอาเอง  ซึ่งตามปกติแล้วพลเมืองเพศชายผิวขาวที่เป็นเจ้าของทรัพย์สินเท่านั้นที่มีสิทธิที่จะลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง  เรื่องราวทางประวัติศาสตร์หลายต่อหลายอย่างจะเกี่ยวข้องกับความพยายามที่จะสนับสนุนการมีสิทธิในการลงคะแนนเสียงเลือกตั้งสำหรับกลุ่มต่างๆที่ถูกกีดกันมิให้มีสิทธิในการลงคะแนนเสียงเหล่านี้  กระบวนการเรียกร้องให้สตรีมีสิทธิในการลงคะแนนเสียงเลือกได้ประสบความสำเร็จในการให้สิทธิในการเลือกตั้งแก่บรรดาสตรีในหลายต่อหลายประเทศ  และการเรียกร้องให้มีสิทธิในการเลือกตั้งอย่างเสรีนี้ก็เป็นเป้าหมายสำคัญอย่างหนึ่งในกระบวนการเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิพลเมืองของอเมริกา  การขยายสิทธิในการลงคะแนนเสียงเลือกตั้งให้แก่กลุ่มที่ถูกกีดกันมิให้ได้รับสิทธิ์นี้(อย่างเช่นอดีตอาชญากรผู้ต้องโทษทางอาญา, สมาชิกของชนกลุ่มน้อยบางกลุ่ม ตลอดจนผู้มีฐานะด้อยทางเศรษฐกิจ) ก็ยังคงเป็นเป้าหมายในการกระบวนการเรียกร้องสิทธิของการลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง

สิทธิในการลงคะแนนเสียงเลือกตั้งนี้ปกติจะกำหนดให้แก่พลเมืองของประเทศนั้นๆโดยเฉพาะ  แต่ก็อาจจะมีข้อจำกัดในเรื่องนี้ไว้บ้าง  อย่างไรก็ดีในสหภาพยุโรป (European Union) บุคคลสามารถลงคะแนนเสียงเลือกตั้งเทศบาลได้หากเป็นผู้อยู่ในเขตเทศบาลนั้นและเป็นพลเมืองของสหภาพยุโรป  ทั้งนี้โดยไม่คำนึงว่าบุคคลนั้นจะมีสัญชาติใดก็ได้ทั้งนั้น

ในบางประเทศ การลงคะแนนเสียงเลือกตั้งจะถูกบังคับโดยกฎหมาย  เช่น ผู้มีสิทธิในการลงคะแนนเสียงเลือกตั้งคนใดไม่ไปใช้สิทธิลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง บุคคลผู้นั้นอาจจะได้รับโทษเช่นถูกปรับเป็นต้น

ในประชาธิปไตยแบบมีผู้แทนนั้น จะมีข้อกำหนดเกี่ยวกับการขั้นตอนของการกำหนดตัวบุคคลที่จะเข้าเลือกตั้งในตำแหน่งทางการเมืองนั้นๆ  ในหลายกรณีการกำหนดตัวบุคคลเพื่อสมัครรับเลือกตั้งนั้นจะกระทำผ่านทางกระบวนการเลือกสรรของพรรคการเมืองที่จัดตั้งขึ้นมา

ในระบบที่ไม่มีพรรคการเมืองนั้น มีแนวโน้มที่จะแตกต่างจากระบบที่มีพรรคการเมืองในส่วนที่เกี่ยวกับการกำหนดตัวบุคคลที่จะลงสมัครรับเลือกตั้ง ในประชาธิปไตยแบบตรง(Direct Democracy) และเป็นประชาธิปไตยแบบไม่มีพรรคการเมืองนั้น ผู้มีสิทธิในการออกเสียงเลือกตั้งทุกคนสามารถจะได้รับการเลือกสรรให้เป็นผู้สมัครรับเลือกตั้งได้ แต่ในระบบการปกครองที่มีผู้แทนในแบบที่ไม่มีพรรคการเมืองนั้น จะไม่มีการกำหนดตัวผู้สมัครรับเลือกตั้ง ตลอดจนไม่มีการรณรงค์การเลือกตั้ง  และการลงคะแนนเสียงเลือกตั้งเป็นต้นแต่อย่างใด  ผู้ออกเสียงเลือกตั้งมีอิสระที่จะเลือกผู้สมัครรับเลือกตั้งคนใดก็ได้ในเวลาลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง  จะมีข้อกำหนดเป็นข้อยกเว้นก็แต่ในเรื่องอายุขั้นต่ำของผู้ลงคะแนนเสียงงเลือกตั้งเป็นต้น ในกรณีดังกล่าวข้างต้น  ผู้ที่ลงสมัครรับเลือกตั้งจะต้องเป็นผู้มีความใกล้ชิดกับผู้ลงคะแนนเสียงเลือกตั้งทุกคน  และระบบดังกล่าวนี้ก็อาจจะมีการใช้การเลือกตั้งโดยอ้อมในระดับต่างๆด้วยก็ได้

แต่ในระบบที่มีพรรคการเมืองนั้น ในบางประเทศ  อาจมีสมาชิกของพรรคการเมืองเพียงเพียงพรรคเดียวถูกกำหนดตัวให้เป็นผู้สมัครรับเลือกตั้ง ก็ได้ หรือผู้มีสิทธิ์สามารถถูกกำหนดโดยการแข่งขันกันจนทำให้สามารถมีชื่ออยู่ในบัตรเลือกตั้งแบบนี้ก็ได้


การรณรงค์หาเสียงทางการเมือง
เมื่อประกาศวันให้มีการเลือกตั้งแล้ว บรรดานักการเมืองและผู้สนับสนุนก็จะพยายามแข่งขันนำเสนอนโยบายของตนต่อผู้ออกเสียงเลือกตั้งในเขตเลือกตั้งของตน ซึ่งเรียกกันในภาษาการเมืองว่าการรณรงค์หาเสียงทางการเมือง พวกผู้สนับสนุนในการรณรงค์หาเสียงทางการเมืองอาจเป็นพวกที่ถูกจัดตั้งอย่างเป็นทางการหรือพวกที่มีความผูกพันกันอย่างหลวมๆกับพรรคการเมืองมาช่วยโฆษณาประชาสัมพันธ์ในการรณรงค์หาเสียง และเป็นเรื่องปกติสำหรับนักรัฐสาสตร์ที่จะทำนายผลการเลือกตั้งโดยวิธีทำนายทางการเมือง (Political Forecasting)


การโกงการเลือกตั้ง
ในหลายประเทศที่มีความอ่อนแอทางด้านนิติรัฐนิติธรรม (Rule of law) เหตุผลสามัญส่วนใหญ่ที่การเลือกตั้งไม่เป็นไปตามมาตรฐานสากลในเรื่อง อิสระและยุติธรรมนั้นก็เนื่องมาจากการแทรกแซงจากรัฐบาลที่อยู่ในอำนาจ พวกเผด็จการอาจใช้อำนาจของฝ่ายบริหาร (ตำรวจ, กฎอัยการศึก, การเซ็นเซอร์สื่อ, การแทรกแซงกลไกการเลือกตั้ง เป็นต้น) เพื่อให้ตนสามารถดำรงคงอยู่ในอำนาจต่อไปแม้ว่ามติมหาชนจะให้ถอดถอนออกจากอำนาจแล้วก็ตาม  ข้างฝ่ายสมาชิกนิติบัญญัติบางคนก็อาจใช้อำนาจของเสียงส่วนใหญ่ในรัฐสภาในการออกกฎหมายแก้ไขกลไกในการเลือกตั้งซึ่งรวมทั้งในเรื่องของผู้มีสิทธิในการเลือกตั้งและเขตการเลือกตั้งเป็นต้นอันจะเป็นประโยชน์ป้องกันสมาชิกสภาฝ่ายตรงข้ามให้เสียเปรียบฝ่ายตนในการเลือกตั้งอย่างนี้เป็นต้น

ฝ่ายหน่วยงานที่ไม่เกี่ยวข้องกับรัฐบาลก็ยังสามารถแทรกแซงการเลือกตั้งได้โดยการใช้กำลังกายข่มขู่บ้าง ใช้วาจาข่มขู่ หรือใช้กลโกงต่างๆบ้าง  ซึ่งจะสามารถส่งผลให้มีการลงคะแนนเสียงที่ไม่เหมาะไม่ควรหรือให้นับคะแนนผิดพลาดเป็นต้น ในประเทศที่มีความเข้มแข็งในทางลงคะแนนเสียงในแบบอิสระและบริสุทธิ์ยุติธรรมนั้น เขาจะมีระบบการตรวจจับเพื่อลดการโกงการเลือกตั้งให้มีน้อยที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ 


บทบาทของการเลือกตั้ง
ในระบอบการเมืองและการปกครองแบบเสรีประชาธิปไตย  การเลือกตั้งเป็นสิ่งสำคัญมาก  และมีบทบาทสำคัญดังนี้:

1.บทบาทในการระดมเลือกสรรนักการเมือง (Recruiting Politicians)
การเลือกตั้งเป็นช่องทางสำหรับการเลือกตัวแทนทางสาธารณะหรือทางการเมือง ทั้งนี้โดยกระบวนการเริ่มต้นตั้งแต่การเข้าเป็นสมาชิกพรรค การเสนอตัวต่อพรรค จวบจนพรรคตัดสินใจส่งลงสมัครรับเลือกตั้งเพื่อว่าในขั้นสุดท้ายให้ประชาชนตัดสินใจเลือก

2.บทบาทในการสร้างรัฐบาล (Making Government)
ในระบอบการเมืองและการปกตรองแบบประธานาธิบดี (Presidential System)อย่างเช่นที่สหรัฐอเมริกา  ประธานาธิบดีเป็นผู้เลือกผู้บริหารคือรัฐบาลโดยตรง การเลือกตั้งมีความชัดเจนในแง่ของการเลือกผู้ที่จะเป็นรัฐบาลบริหารประเทศ ส่วนในระบอบการเมืองและการปกครองแบบรัฐสภา (Parliamentary System)นั้น รัฐที่ใช้รูปแบบการเลือกตั้งแบบสัดส่วน(Proportional Representation System) รัฐบาลมักจะเป็นรัฐบาลผสม(Coalition Government) ซึ่งเป็นการตกลงกันในภายหลังการเลือกตั้ง ความชัดเจนของการเลือกตั้งในแง่ของการสร้างรัฐบาลจึงต่างจากระบอบประธานาธิบดี

3.บทบาทในการมีอิทธิพลต่อนโยบาย (Influencing Policy)
การเลือกตั้งถือว่าเป็นโอกาสในการสะท้อนความคิดความเห็นของประชาชนที่มีต่อนโยบายและการดำเนินงานบริหารประเทศของรัฐบาลชุดก่อน และนโยบายของพรรคอื่นๆที่เสนอตัวมาแข่งกับพรรครัฐบาล ซึ่งก็คือการมีอิทธิพลต่อนโยบายนั่นเอง

4. บทบาทในการให้การศึกษาการเรียนรู้ทางการเมืองแก่ผู้มีสิทธิการเลือกตั้ง(Education Voters)
ในการณรงค์หาเสียงเลือกตั้งของพรรคการเมืองนั้น นับว่าเป็นช่องทางในการนำเสนอข้อมูล ข่าวสารเกี่ยวกับพรรค นโยบายพรรค  ตัวผู้สมัครของพรรค ผลงานของรัฐบาลที่ผ่านมา  ระบบการเมือง ตลอดจนประเด็นปัญหาต่างๆที่ส่งผลต่อท่าทีของพรรครัฐบาลและพรรคการเมืองอื่นๆ อันจะช่วยให้ประชาชนเกิดการเรียนรู้และการเข้าใจการเมืองการปกครองเพิ่มยิ่งขึ้น

5. บทบาทในการสร้างความชอบธรรม  (Building Legitimacy)
สำหรับในประเทศที่มีระบอบการปกครองแบบเผด็จการนั้น  ที่มีการจัดการเลือกตั้งทั้งๆที่ไม่เป็นไปตามหลักประชาธิปไตย ก็เพื่อสร้างความชอบธรรมทางการเมืองให้ผู้คนทั้งในประเทศและต่างประเทศยอมรับการมีอำนาจบริหารประเทศของรัฐบาล ขณะที่ประเทศที่มีการปกครองตามระบอบประชาธิปไตย ก็สามารถอ้างได้ว่าเป็นรัฐบาลที่ได้รับอาณัติจากประชาชนให้บริหารประเทศได้เพราะได้ผ่านการเลือกตั้งมาแล้วนั่นเอง

-------------------------
คำถามท้ายบท
1. จงเล่าประวัติของการเลือกตั้งมาแต่พอสังเขป

2. การเลือกตั้งมีบทบาทอย่างไรบ้าง

3. An election is a formal decision-making process by which a population chooses an individual to hold public office. Elections have been the usual mechanism by which modern representative democracy operates since the 17th century.

3.1 จงแปลประโยคภาษาอังกฤษเกี่ยวกับเรื่องการเลือกตั้งเป็นภาษาไทยให้ได้ความสละสลวย

3.2 ให้ใช้ข้อมูลจากที่แปลมาเป็นตัวช่วยตอบคำถามว่า การเลือกตั้งคืออะไร





สัปดาห์ที่ 11 :กลุ่มกดดันในสหราชอาณาจักร แคนาดา และสหรัฐอเมริกา

กลุ่มกดดันในสหราชอาณาจักร แคนาดา และสหรัฐอเมริกา

ที่จะนำเสนอต่อไปนี้เป็นเรื่องราวของกลุ่มกดดันในประเทศสหราชอาณาจักร ประเทศแคนาดาและประเทศสหรัฐอเมริกา โดยมีการแตกประเด็นออกเป็น 3 หัวข้อย่อยดังนี้:
1.ตัวอย่างกลุ่มกดดันในประเทศสหราชอาณาจักร
2.ยุทธวิธีของกลุ่มกดดันของประเทศแคนาดา
3.กลุ่มกดดันของประเทศสหรัฐอเมริกา
---------------------------------------

กลุ่มกดดันในประเทศสหราชอาณาจักร
สหราชอาณาจักรมีการปกครองแบบเสรีประชาธิปไตย ในแบบรัฐสภา(Parliamentary System) และมีระบบพรรคการเมืองแบบสองพรรค(Two Party System) ที่พรรคใหญ่สองพรรคคือพรรคแรงงานและพรรคอนุรักษ์นิยมผลัดกันชนะการเลือกตั้งและจัดตั้งรัฐบาลบริหารประเทศ ซึ่งเมื่อฝ่ายหนึ่งชนะการเลือกตั้งและทำการจัดตั้งรัฐบาล อีกพรรคหนึ่งก็จะทำหน้าที่เป็นฝ่ายค้าน  ส่วนกลุ่มกดดันในสหราชราชอาณาจักรที่ทำงานเพื่อมีอิทธิพลต่อนโยบายของรัฐบาลเพื่อเป้าหมายสุดท้ายคือเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของกลุ่มตนนั้นมีอยู่หลายกลุ่มด้วยกัน แต่ที่ยกมาเป็นตัวอย่างในที่นี้เป็นเพียงจำนวนน้อย คือเพียง  6 กลุ่มดังนี้:

1.กลุ่มเชลเตอร์(Shelter) มีวัตถุประสงค์ในการช่วยเหลือบุคคลไร้ที่อยู่อาศัย(Aims to help homeless people)

2. องค์การนิรโทษกรรมสากล(Amnesty international มีวัตถุประสงค์ที่จะคุ้มครองสิทธิมนุษยชน(Defends human right) ของบุคคลทั่วโลก

3. องค์การกรีนพีซ(Greenpeace)มีวัตถุประสงค์ในการรณณรงค์ด้านสิ่งแวดล้อม(Campaigns on environmental issues)

4. ซีบีไอ (CBI=สมาพันธ์อุตสาหกรรมอังกฤษ) มีวัตถุประสงค์ส่งเสริมผลประโยชน์ของภาคธุรกิจ

5. ทียูซี (TUC= Trade Union) คือสหภาพแรงงาน มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมผลประโยชน์ของกรรมกรผู้ใช้แรงงาน

6.เอเอสเอซ (ASH=Action on Smoking Health) คือ กลุ่มที่มีวัตถุประสงค์ต่อต้านการสูบบุหรี่

ยุทธวิธีของกลุ่มกดดันในประเทศแคนาดา

ประเทศแคนาดามีระบอบการปกครองแบบรัฐสภา และมีระบบการเมืองแบบสองพรรค เหมือนที่ประเทศสหราชอาณาจักร กลุ่มกดดันที่ประเทศแคนาดาได้รับอิทธิพลจากวิวัฒนาการทางด้านเทคโนโลยีจากสหรัฐอเมริกา ทำให้มีวิธีการกดดันรัฐบาลที่ก้าวหน้ามากดังนี้:

1.กลุ่มกดดันของประเทศแคนาดาใช้การรณรงค์ผ่านทางสื่อสารมวลชน(Mass-media Campaign) เพื่อคัดค้านหรือสนับสนุนนโยบายของรัฐอย่างใดอย่างหนึ่ง

2.กลุ่มกดดันของประเทศแคนาดาใช้วิธีการจ้างโฆษณา(Paid Advertisement) เพื่อคัดค้านหรือสนับสนุนนโยบายของรัฐบาลอย่างใดอย่างหนึ่ง

3. กลุ่มกดดันของประเทศแคนาดาใช้การพบปะอย่างไม่เป็นทางการกับเจ้าหน้าที่ของรัฐบาลระดับอาวุโส(Informal meetings with senior bureaucrats)

4.กลุ่มกดดันของประเทศแคนาดาใช้วิธีบรรยายสรุปแก่กรรมาธิการรัฐสภา(The presentation of a brief to parliamentary committee)

5. กลุ่มกดดันของประเทศแคนาคาใช้วิธีพบปะเป็นการส่วนตัวกับที่ปรึกษาที่มีอิทธิพลและรัฐมนตรีเจ้ากระทรวงต่างๆ(Meetings with influential advisers and ministers)



กลุ่มกดดันในสหรัฐอเมริกา

สำหรับสหรัฐอเมริกาเป็นตัวอย่างของประเทศที่มีระบอบการปกครองแบบประธานาธิบดี(Presidential System) มีระบบพรรคการเมืองแบบสองพรรค (Two Party System)ประธานาธิบดีเป็นผู้ตั้งรัฐบาล และสมาชิกของรัฐบาลไม่ได้เป็นสมาชิกของรัฐสภาหรือสภาคองเกรส อันประกอบด้วยสภาสูงที่มีชื่อว่าวุฒิสภา(Senate) และสภาล่างที่มีชื่อว่าสภาผู้แทนราษฎร(House of Representatives) ในบรรยากาศของระบอบการปกครองของสหรัฐอเมริกาดังกล่าวมานี้ กลุ่มกดดันในสหรัฐอเมริกามีความเข้มแข็งในการเคลื่อนไหวเพื่อมีอิทธิพลต่อประชามติและต่อนโยบายของรัฐบาลทั้งในฝ่ายนิติบัญญัติและในฝ่ายฝ่ายบริหาร ดังจะนำเสนอเรื่องของกลุ่มกดดันของประเทศนี้ตามลำดับดังนี้

1.ตัวกำหนดอิทธิพลของกลุ่มกดดันในสหรัฐอเมริกา
ได้มีการศึกษากลุ่มกดดันในสหรัฐอเมริกาว่าจะมีอิทธิพลมากน้อยขนาดไหนนั้น ขึ้นอยู่กับ 3 ปัจจัยต่อไปนี้
1.1 ขึ้นอยู่กับขนาดของสมาชิก(Size of its membership)
1.2 ขึ้นอยู่กับสถานภาพทางสังคมของสมาชิก(Socioeconomic status of its members)
1.3 ขึ้นอยู่กับทรัพยากรทางการเงินของกลุ่ม(Its financial resources)

2.เป้าหมายของกลุ่มกดดันในการกดดันรัฐบาล
กลุ่มกดดันของสหรัฐอเมริกาจะเล็งเป้าการกดดันไปยังหน่วยงานของรัฐบาลดังนี้
2.1 กลุ่มกดดันสหรัฐอเมริกาจะเล็งเป้าการกดดันไปที่รัฐสภาของสหรัฐฯ หรือสภาคองเกรส ซึ่งเป็นสภาที่จะร่างกฎหมายอันจะกระทบต่อผลประโยชน์ของกลุ่มกดดัน กลุ่มกดดันจะใช้วิธีให้คำมั่นสัญญากับสมาชิกรัฐสภาโดยเฉพาะกับตัวประธานคณะกรรมาธิการที่เกี่ยวข้องว่าสมาชิกของกลุ่มตนจะให้การสนับสนุนด้านการเงินและด้านลงคะแนนเสียงให้แก่สมาชิกสภาที่ให้การสนับสนุนแนวทางของกลุ่มในการเลือกตั้งครั้งต่อไป
2.2 กลุ่มกดดันของสหรัฐอเมริกา นอกจากจะทำการลอบบีกับฝ่ายนิติบัญญัติแล้ว ก็ยังจะทำการลอบบีกับฝ่ายบริหาร เพราะว่าฝ่ายบริหารก็คือฝ่ายที่จะบังคับใช้กฎหมาที่ออกมาโดยฝ่ายนิติบัญญัติ กลุ่มกดดันจึงใช้วิธีสร้างอิทธิพลกดดันต่อการตัดสินใจของหน่วยงานต่างๆของฝ่ายบริหารอีกทางหนึ่ง
2.3 กลุ่มกดดันของสหรัฐอเมริกา นอกจากจะกดดันทั้งฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายบริหารแล้ว ก็ยังมีแนวทางที่จะกดดันผ่านทางพรรคการเมือง  แต่อย่างที่ทราบมาแล้วว่ากลุ่มกดดันจะใช้วิธีสร้างอิทธิพลต่อนโยบายสาธารณะเท่านั้น จะไม่มีการส่งคนของกลุ่มลงสมัครแข่งขันเลือกตั้ง  แต่กลุ่มกดดันต่างๆในสหรัฐอเมริกาจะไม่ยอมร่วมหัวจมท้ายกับพรรคการเมืองพรรคใดพรรคหนึ่ง หากแต่จะใช้ยุทธวิธีไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด
2.4 กลุ่มกดดันขนาดใหญ่ในสหรัฐอเมริกาจะใช้ยุทธวิธีสร้างประชามติโดยการรณรงค์ด้วยวิธีส่งจดหมายถึงบ้าง (Mailing Campaign)โดยการโฆษณาบ้าง(Advertising)  โดยการใช้สื่อสารมวลชนบ้าง( Communication media)

3.ประเภทของกลุ่มกดดันในสหรัฐอเมริกา
สำหรับกลุ่มกดดันในสหรัฐอเมริกาสามารถแยกออกได้เป็น  5 กลุ่มใหญ่ คือ
3.1     กลุ่มเศรษฐกิจ(Economic groups)
3.2      กลุ่มรักชาติ(Patriotic groups)
3.3     กลุ่มเผ่าพันธุ์(Racial groups)
3.4      กลุ่มอาชีพ(Occupational groups)
3.5      กลุ่มของสตรี(Women’s groups)

4.กลุ่มกดดันที่มีชื่อเสียงของสหรัฐอเมริกา
สำหรับกลุ่มกดดันของสหรัฐอเมริกาที่มีชื่อเสียง มีรายชื่อดังต่อไปนี้ :
1.กลุ่มเอเออาร์พี(AARP=American Association of Retired Persons) คือ กลุ่มบุคคลผู้เกษียณอายุ
2. กลุ่มสมาพันธ์องค์การชาวนาชาวไร่อเมริกัน(The American Farm Bureau Federation)
3. กลุ่ม รีจันอเมริกัน(The American Legion)
4. กลุ่มสมาคมการผลิตแห่งชาติ(The National Association of Manufactures)
5. กลุ่มองค์การปฏิรูปกฎหมายว่าด้วยกัญชาแห่งชาติ(The National Organization for the Reform of Marijuana Laws)
---------------------------
คำถามท้ายบท
1. อะไรคือตัวกำหนดว่ากลุ่มกดดันในสหรัฐอเมริกาจะมีอิทธิพลมากหรือมีอิทธิพลน้อย

2.จงบอกถึงยุทธวิธีของกลุ่มกดดันในประเทศแคนาดาว่ามีอะไรบ้าง


3. A major area of concentration for pressure groups in the United States is the Congress, which may draw up legislation affecting the interests of the group. Through promises of financial support or of votes by interest group members at the next election, the organization hopes to persuade certain legislators, especially appropriate committee chairmen, to endorse favorable legislation.


3.1 จงแปลเรื่องราวเกี่ยวกับกลุ่มกดดันในสหรัฐอเมริกาข้างต้นเป็นภาษาไทยให้ได้ความสละสลวย


3.2 จงใช้ข้อมูลจากภาษาอังกฤษที่แปลเป็นภาษาไทยแล้วเป็นตัวช่วยในการตอบคำถามต่อไปนี้

3.2.1 กลุ่มกดดันในสหรัฐอเมริกากดดันหน่วยงานใดของสหรัฐอเมริกา
3.2.2 ทำไมกลุ่มกดดันจึงไปกดดันที่นั่น
3.2.3  กลุ่มกดดันให้สัญญากับสมาชิกของสภาคองเกรสว่าอย่างไร

สัปดาห์ที่ 10 :ลักษณะทั่วไปของกลุ่มผลประโยชน์หรือกลุ่มกดดัน

ลักษณะทั่วไปของกลุ่มผลประโยชน์หรือกลุ่มกดดัน

ที่จะนำเสนอในสัปดาห์นี้ จะเป็นเรื่องลักษณะทั่วไปของกลุ่มผลประโยชน์หรือกลุ่มกดดันต่างๆ ซึ่งมีขอบข่ายครอบคลุมหัวข้อย่อยต่อไปนี้:
1.สิทธิของกลุ่มกดดัน
2.ความรับผิดชอบของกลุ่มกดดัน
3.วิธีการและเครื่องมือของกลุ่มกดดัน

-------------------------
สิทธิของกลุ่มกดดัน

ดังที่ได้ทราบกันดีแล้วว่ากลุ่มกดดันหรือกลุ่มผลประโยชน์ ก็คือองค์การของประชาชนที่มีความเชื่อในเรื่องเดียวกัน เป็นองค์การที่มีทัศนะและมีความปรารถนาอย่างแรงกล้าที่จะมีอิทธิพลต่อประเด็นใดประเด็นหนึ่งของสังคม และกลุ่มกดดันนี้จะทำงานร่วมกันเพื่อความมีประสิทธิพลมากกว่าทำแต่โดยลำพังผู้เดียว

ส่วนประเด็นคำถามที่ตามมาที่ว่ากลุ่มมีสิทธิมีอะไรบ้างนั้น สามารถตอบเป็นข้อๆได้จำนวน  4 ข้อดังนี้คือ:
1.กลุ่มกดดันมีสิทธิที่จะวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลได้ ทั้งนี้ก็เพราะรัฐบาล
สิทธิในข้อนี้ตรงกับภาษาอังกฤษว่า  The right to criticize the government
และรัฐบาลก็มีหน้าที่ตามระบอบประชาธิปไตยที่จะรับฟังข้อวิพากษ์วิจารณ์นั้นด้วยใจเป็นกลาง

2. กลุ่มกดดันมีสิทธิที่จะจัดการชุมนุม
เพื่อที่จะให้กลุ่มตนสามารถกดดันฝ่ายรัฐบาลเพื่อให้คล้อยตามแนวนโยบายหรือความต้องการของกลุ่มตนได้นั้น ในประเทศที่เจริญแล้ว ยอมให้สิทธิในการชุมนุมแก่กลุ่มกดดัน ซึ่งรียกสิทธิอันนี้ว่า   The right to hold meetings

3.กลุ่มกดดันมีสิทธิในการประท้วง
การประท้วงเพื่อที่จะกดดันให้ฝ่ายรัฐบาลต้องยอมโอนอ่อนผ่อนปรนตามความต้องการของกลุ่มกดดันถือเป็นเรื่องปกติและเป็นสิทธิที่กลุ่มกดดันสามารถกระทำได้ การประท้วงมีหลากหลายรูปแบบ ซึ่งสิทธิในข้อนี้ในภาษาอังกฤษเรียกว่า  The right to protest

4. กลุ่มกดดันมีสิทธิที่จะเผยแพร่ทัศนะแนวความคิดผ่านทางสื่อสารมวลชน
ข้อนี้หมายถึงการสื่อสารเกี่ยวกับคิดและอุดมการณ์ให้เป็นที่ปรากฏแก่ประชาชนผ่านทางสื่อต่างๆ เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับกลุ่มกดดันที่จะใช้เพื่อให้การกดดันของตนเกิดประสิทธิภาพอย่างสูงสุด สื่อที่กลุ่มกดดันใช้นั้นอาจจะเป็นสื่อสิ่งพิมพ์ สื่อทางวิทยุ สื่อทางโทรทัศน์ สื่อทางโทรศัพท์ สื่อทางอีเมล์ สื่อทางเครือข่ายสังคมหรือที่เรียกว่า โซเชียลเน็ตเวิร์ค  และสื่อทางเว็บไซต์ ซึ่งสองสามอย่างหลังเป็นสื่อที่มีความทันสมัยและมีประสิทธิภาพในความฉับไวดีมาก ในประเทศที่เจริญแล้วอย่างเช่นในประเทศยุโรปและอเมริกา  เขาเรียกสิทธิของกลุ่มกดดันในข้อนี้ว่า  The right to make their views known by using the media

ความรับผิดชอบของกลุ่มกดดัน
เมื่อกล่าวถึงสิทธิของกลุ่มกดดันแล้ว ต่อไปก็จะกล่าวถึงความรับผิดชอบหรือหน้าที่ของกลุ่มกดดันบ้าง ในประเทศที่เจริญแล้วอย่างในทวีปยุโรปและอเมริกาเหนือ กลุ่มกดดันมีความรับผิดชอบอย่างน้อย 5 ประการดังนี้คือ

1.กลุ่มกดดันมีความรับผิดชอบที่จะวิพากษ์วิจารณ์โดยอิงข้อเท็จจริง
ข้อนี้หมายถึงว่ากลุ่มกดดันเมื่อจะวิพากษ์วิจารณ์เพื่อที่จะโน้มน้าวให้ฝ่ายรัฐบาลโอนอ่อนผ่อนตามความต้องการของกลุ่มตนนั้น การวิพากษ์วิจารณ์นั้นต้องอิงอาศัยข้อเท็จจริงที่สามารถตรวจสอบหาหลักฐานในภายหลังนี้  ซึ่งความรับผิดชอบที่จะปฏิเสธมิได้ของกลุ่มกดดัน เรียกในภาษาอังกฤษว่า  The responsibility to base their criticism on fact

2. กลุ่มกดดันเมื่อมีการชุมนุมจะต้องสงบและถูกต้องตามกฎหมาย
ในข้อนี้หมายถึงการชุมนุมของกลุ่มกดดันต้องเป็นการชุมนุมโดยสงบปราศจากอาวุธ ไม่สร้างความลำบากให้แกผู้อื่นโดยไม่จำเป็น  เขาเรียกความรับผิดชอบในข้อนี้ในภาษาอังกฤษว่า Meeting should be peaceful and legal.

3. กลุ่มกดดันเวลาจะชุมนุมกันต้องแจ้งเจ้าหน้าที่และตำรวจในท้องที่ได้ทราบถึงการประท้วง
นี่ก็เป็นความรับผิดชอบที่สำคัญอีกข้อหนึ่งที่กลุ่มกดดันจะละเลยมิได้ เพื่อจะได้ไม่เกิดเหตุการณ์บานปลาย หรือถูกแทรกแซงโดยกลุ่มมือที่สาม เขาเรียกความรับผิดขอบในข้อนี้ว่า They should inform the local authorities and police when they are making a protest.

4. กลุ่มกดดันมีความรับผิดชอบที่จะไม่ใช้การข่มขู่คุกคาม
ในข้อนี้หมายถึงความรับผิดชอบของกลุ่มกดดันที่จะไม่หันไปใช้วิธีการข่มขู่ว่าจะกระทำการรุนแรงอันมีลักษณะผิดกฎหมาย และเป็นอันตรายต่อความสงบเรียบร้อยของประเทศ เขาเรียกความรับผิดชอบในข้อนี้ในภาษาอังกฤษว่า  They have the responsibility not to intimidate.

วิธีการและเครื่องมือที่กลุ่มกดดันในประเทศที่เจริญแล้วนิยมใช้กัน

กลุ่มกดดันในประเทศที่เจริญแล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสหรัฐอเมริกาจะใช้วิธีกาต่างๆดังนี้คือ:
1.อินเตอร์เน็ต ได้แก่อีเมล์ และเว็บไซต์(Internet-email and web)

2.จดหมาย(Letters)

3.การลอบบี(Lobbying) หมายถึงศิลปะในการชักนำเกลี้ยกล่อมนักการเมืองหรือรัฐบาล

4. ทำเรื่องร้องเรียน(Petitions) หมายถึงการยื่นเรื่องร้องเรียนลงบัญชีหางว่าวต่อเจ้าหน้าที่เพื่อให้ทำหรือไม่ให้ทำในสิ่งที่ฝ่ายตนต้องการ

4.เดินขบวน(Demonstrations)  เพื่อใช้เป็นแรงกดดันให้แก่ฝ่ายเจ้าหน้าที่ของรัฐบาล

5.การรณรงค์ผ่านสื่อสารมวลชน( ทีวี วิทยุ และหนังสือพิมพ์(Mass media campaigns i.e. T.V. radio and newspapers)
-----------
คำถามท้ายบท

1.สิทธิและความรับผิดชอบของกลุ่มกดดันมีอะไรบ้าง จงแจกแจงมาแต่พอสังเขป

2. จงบอกถึงวิธีการและเครื่องมือที่กลุ่มกดดันนำมาใช้เพื่อสร้างอิทธิพลต่อนโยบาย-v’iy{[k]

3. The aim of all pressure groups is to influence the people who actually have the power to make decisions. Pressure groups do not look for the power of political office for themselves, but do seek to influence the decisions made by those who do hold this political power.

3.1 จงแปลเรื่องราวเกี่ยวกับกลุ่มกดดันให้ได้ความสละสลวย

3.2 จงใช้ความหมายจากที่ได้จากการแปลข้างต้นเป็นตัวช่วยในการตอบคำถามว่า กลุ่มกดดันทุกกลุ่มมีวัตถุประสงค์อะไรกันแน่

สัปดาห์ที่ 9:ความหมายของกลุ่มผลประโยชน์

ความหมายของกลุ่มผลประโยชน์

ที่จะนำเสนอต่อไปนี้เป็นการเริ่มต้นศึกษาเรื่องราวของ กลุ่มกดดัน(Pressure groups) หรือกลุ่มผลประโยชน์(Interest groups) โดยจะเริ่มด้วยการศึกษาและเข้าใจความหมายของกลุ่มผลประโยชน์หรือกลุ่มกดดันจากคำนิยามที่ปรากฏอยู่ในตำรา ในพจนานุกรม และในเว็บไซต์ต่างๆ และในตอนท้ายจะได้มอบหมายให้นักศึกษาได้ทำกิจกรรมร่วมกันโดยตอบคำถามท้ายบทเหมือนอย่างเคย


------------
1.นิยามของ Oxford  Advanced Learner’s Dictionary ได้ให้คำอธิบาย Pressure groups ว่า
Pressure group noun a group of people who try to influence the government and ordinary people’s  opinion in order to achieve the action they want, for example in law: the environmental pressure group ”Greenpeace.”

กลุ่มกดดัน (คำนาม) คือ กลุ่มของประชาชนผู้พยายามมีอิทธิพลต่อรัฐบาลและต่อประชามติธรรมดาเพื่อที่จะได้บรรลุถึงการกระทำที่พวกเขาต้องการ ยกตัวอย่างเช่น การเปลี่ยนแปลงในทางกฎหมาย เช่นกลุ่มกดดันชื่อ กรีนพีซ อันเป็นกลุ่มกดดันทางด้านสภาพแวดล้อม

องค์ประกอบของคำนิยามแยกได้ดังนี้
1.กลุ่มกดดันคือกลุ่มของประชาชน
2.เป็นกลุ่มที่พยายามมีอิทธิพลต่อรัฐบาลและประชามติ
3.เป็นกลุ่มมีเป้าหมายเพื่อบรรลุถึงการกระทำที่กลุ่มต้องการ
4.มีการยกตัวอย่างของกลุ่มกดดันที่มีขอบข่ายการทำงานในระดับโลก คือกลุ่มกรีนพีซ ซึ่งเป็นกลุ่มกดดันทางด้านสภาพแวดล้อม

ในพจนานุกรมเล่มเดียวกันนี้ ได้ให้คำนิยามคำ  Interest group ว่า
Interest group a group of people who work together to achieve something that they are particularly interested in, especially by putting pressure on the government, etc.

กลุ่มผลประโยชน์ คือ กลุ่มของบุคคลผู้ทำงานร่วมกันเพื่อบรรลุถึงสิ่งที่พวกเขาให้ความสนใจเป็นการเฉพาะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งโดยการกดดันรัฐบาล เป็นต้น
องค์ประกอบของนิยามมีดังนี้
1.กลุ่มผลประโยชน์เป็นพวกเดียวกับกลุ่มกดดัน
2. เป็นกลุ่มของประชาชนที่มาทำงานร่วมกัน
3.กลุ่มมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ได้สิ่งที่กลุ่มต้องการ
4.สิ่งที่กลุ่มต้องการมากเป็นพิเศษก็คือกดดันรัฐบาล


2.นิยามของ Longman Dictionary of English Language and Culture ได้ให้คำอธิบาย Pressure groups ว่า
Pressure group a group of people that actively tries to influence public opinion and government action-compare INTEREST GROUP.

กลุ่มกดดัน คือ กลุ่มของประชาชนซึ่งพยายามอย่างแข็งขันที่จะมีอิทธิพลต่อประชามติและการกระทำของรัฐบาล ขอให้เปรียบเทียบกับคำว่า กลุ่มผลประโยชน์

องค์ประกอบของคำนิยามนี้มีดังนี้
1.กลุ่มกดดันคือกลุ่มของประชาชน
2.เป็นกลุ่มที่ต้องการมีอิทธิพลต่อประชามติและการกระทำของรัฐบาล
3.แสดงว่าจะต้องมีความเชื่อมโยงกับกลุ่มผลประโยชน์

เมื่อลองเปิดไปดูคำนิยามในพจนานุกรมเล่มเดียวกันนี้ ก็เห็นคำนิยามของ กลุ่มผลประโยชน์ (Interest group) ว่า
Interest group, also special interest group- a group of people that share an INTEREST, esp. an organization that attempts to influence governmental action-compare PRESSURE GROUP.

องค์ประกอบของคำนิยามนี้มีดังนี้
1.กลุ่มกดดัน อาจจะเรียกอีกอย่างหนึ่งว่ากลุ่มผลประโยชน์ หรือกลุ่มผลประโยชน์พิเศษ
2.เป็นกลุ่มของประชาชนที่มีผลประโยชน์ร่วมกัน
3. เป็นองค์การเหมือนกับกลุ่มกดดันคือพยายามจะมีอิทธิพลต่อการกระทำของรัฐบาล


3.นิยามของเว็บไซต์  answer.com  ให้ความหมายของ Pressure group ว่า
Pressure group n. An interest group that endeavors to influence public policy and especially governmental legislation, regarding its particular concerns and priorities.

กลุ่มกดดัน(เป็นคำนาม) คือ กลุ่มผลประโยชน์ที่พยายามมีอิทธิพลต่อนโยบายสาธารณะและโดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อการออกกฎหมายของรัฐบาล อันเกี่ยวข้องกับข้อวิตกและนโยบายอย่างใดอย่างหนึ่งของพวกตน

คำนิยามนี้มีองค์ประกอบดังนี้
1.กลุ่มกดดันเป็นกลุ่มเดียวกับกลุ่มผลประโยชน์(หรืออาจจะเรียกแทนกันได้)
2.เป็นกลุ่มที่พยายามมีอิทธิพลต่อนโยบายสาธารณะและการออกกฎหมายของรัฐบาล
3. ที่จะมีผลกระทบต่อความวิตกกังวลและนโยบายของกลุ่ม

4.นิยามของเว็บไซต์ historylearningsite.co.uk  อธิบายความหมายของคำ Pressure group ว่า
A pressure group can be described as an organized group that does not put up candidate for election, but seek to influence government policy or legislation.

กลุ่มกดดัน คือ กลุ่มจัดตั้งที่มิได้ส่งผู้สมัครรับเลือกตั้ง แต่จะพยายามมีอิทธิพลต่อนโยบายของรัฐบาล

องค์ประกอบของนิยามมีดังนี้
1.กลุ่มกดดันคือกลุ่มจัดตั้ง(แสดงว่าไม่ใช่กลุ่มเกิดเองตามธรรมชาติ)
2.เป็นกลุ่มที่ไม่ได้ส่งคนสมัครแข่งขันเลือกตั้ง
3. เป็นกลุ่มที่พยายามมีอิทธิพลเหนือนโยบายและการออกกฎหมายของรัฐบาล

5.นิยามของเว็บไซต์ infoplease.com ให้คำอธิบาย Pressure group ว่า
Pressure group, body, organized or unorganized, that actively seeks to promote its particular interests within a society by exerting pressure on public officials and agencies.

กลุ่มกดดัน  คือ หน่วยงานที่จะจัดตั้งหรืไม่จัดตั้งก็ได้ ซึ่งพยายามอย่างแข็งขันในการส่งเสริมผลประโยชน์เฉพาะอย่างใดอย่างหนึ่งภายในสังคมด้วยการใช้วิธีกดดันเจ้าหน้าที่และหน่วยงานสาธารณะ

คำนิยามมีองค์ประกอบดังนี้
1.กลุ่มกดดันจะเป็นกลุ่มจัดตั้งหรือกลุ่มที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติก็ได้
2. เป็นกลุ่มที่ต้องการจะปกป้องผลประโยชน์ของตนเอง
3. กลุ่มจะใช้วิธีการกดดันเจ้าหน้าที่และหน่วยงานของรัฐบาล

6. คำนิยามของ thecanadianencyclopedia.com อธิบาย Pressure group ว่า
A pressure group, also known as an interest group or lobby, is an organization formed by like-mined people who seek to influence PUBLIC POLICY to promote an interest.

กลุ่มกดดัน เรียกว่า  กลุ่มผลประโยชน์ หรือ กลุ่มลอบบี ก็มี  คือ องค์การที่ก่อตั้งขึ้นมาโยประชาชนที่มีความคิดเหมือนกัน ซึ่งต้องการจะมีอิทธิพลต่อนโยบายสาธารณะเพื่อส่งเสริมผลประโยชน์อย่างใดอย่างหนึ่ง

องค์ประกอบของคำนิยามมีดังนี้
1.กลุ่มกดดัน อาจเรียกว่า กลุ่มผลประโยชน์ หรือ กลุ่มลอบบี ก็ได้
2.เป็นองค์การของประชาชน ที่มีความคิดความเห็นและอุดมการณ์คล้ายตลึงกัน
3. เป็นองค์การที่ต้องการมีอิทธิพลต่อนโยบายของรัฐบาล
4. เป็นกลุ่มที่ต้องการส่งเสริมผลประโยชน์ของฝ่ายตน

7.คำนิยามของเว็บไซต์ palgrave.com ให้คำอธิบายของ Pressure Group ว่า
Pressure groups are organizations that seek to exert influence on government from outside. They do not therefore put candidate up for election or seek in other ways to “win”  government power.

กลุ่มกดดัน คือ องค์การที่พยายามมีอิทธิพลต่อรัฐบาลจากภายนอก ดังนั้นจึงไม่ได้ส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งลงแข่งขันการเลือก หรือหาหนทางอย่างอื่นๆเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจของรัฐบาล

องค์ประกอบของคำนิยามมีดังนี้
1.กลุ่มกดดันเป็นองค์การของประชาชน
2.เป็นกลุ่มที่ไม่ได้ส่งผู้สมัครเข้าแข่งขันเลือกตั้ง
3.เป็นกลุ่มที่ไม่ต้องการได้อำนาจของรัฐบาลโดยตรง

 --------------------------------------------------
คำถามท้ายบท
1.จงให้คำนิยาม กลุ่มกดดัน(Pressure groups) ด้วยถ้อยคำของกลุ่มของท่านเอง และให้บอกมาด้วยว่า คำนิยามของกลุ่มของท่านมีองค์ประกอบอะไรบ้าง

2.จงสรุปจากคำนิยามต่างๆที่ศึกษามาว่า กลุ่มผลประโยชน์เราจะเรียกชื่ออย่างอื่นว่าอะไรได้บ้าง จงบอกมาให้ครบ

3.PRESSURE GROUP, a number of persons who seek to influence the government in behalf of some objectives that they wish to achieve. Farmers and members of labor unions may constitute typical pressure groups.

3.1จงแปลประโยคภาษาอังกฤษที่เป็นคำนิยามของ  กลุ่มกดดัน ให้ได้ความอย่างสละสลวย

3.2 จงบอกองค์ประกอบของคำนิยามว่ามีอะไรบ้าง

4.PRESSURE GROUP, organized group, e.g. an association of manufactures such as brewers, a farmers’ union which tries to exert influence or lobby for the benefits of its members.

4.1จงแปลคำนิยามนี้เป็นภาษาไทยให้ได้ความสละสลวย  
4.2จงบอกองค์ประกอบของคำนิยามว่ามีอะไรบ้าง

บทความที่ได้รับความนิยม