สัปดาห์ที่ 8:
สอบกลางภาควิชาพรรคการเมือง กลุ่มผลประโยชน์ และการเลือกตั้ง
ข้อสอบมีรูปแบบเป็นข้อสอบแบบปรนัยและอัตนัย
วันพฤหัสบดีที่ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554
สัปดาห์ที่7 : ระบบพรรคการเมือง
ระบบพรรคการเมือง
สำหรับในสัปดาห์นี้ กระบวนการเรียนการสอนก็จะเข้าสู่บทเรียนในหัวข้อ “ระบบพรรคการเมือง”
ซึ่งมีขอบข่ายของการบรรยายครอบคลุมถึงห้วข้อย่อยที่แตกประเด็นออกไปคือ:
1.ระบบพรรคการเมือง
-ระบบพรรคเดียว
-ระบบสองพรรค
-ระบบหลายพรรค
2.ความสัมพันธ์ระหว่างระบบเลือกตั้งกับจำนวนของพรรคการเมือง
---------------------------
ประเภทของระบบพรรคการเมือง
นักวิเคราะห์พรรคการเมืองมักจะพูดถึงระบบพรรค(Party System) ซึ่งก็หมายรวมถึงจำนวนของพรรคการเมืองและแบบแผนของสัมพันธภาพระหว่างพรรคการเมืองในประเทศใดประเทศหนึ่งอยู่เสมอ ว่าโดยกว้างๆแล้วระบบพรรคการเมืองมีอยู่ 3 ประเภทด้วยกันคือ ระบบพรรคการเมืองแบบพรรคเดียว ระบบพรรคการเมืองแบบสองพรรค และระบบพรรคการเมืองแบบหลายพรรค แต่ก็เป็นเรื่องที่ไม่ง่ายนักที่จะจัดประเภทระบบพรรคการเมืองของประเทศใดประเทศหนึ่ง ดังจะขอยกตัวอย่างเช่น ที่เรียกระบบพรรคการเมืองแบบสองพรรคนั้นก็มักจะมีพรรคขนาดเล็กซึ่งอาจจะมาทำหน้าที่เป็นตัวถือดุลระหว่างพรรคการเมืองสองพรรคในบางครั้งได้ และในบางประเทศที่มีพรรคการเมืองจำนวนหลายพรรคแข่งขันในการเลือกตั้งนั้น ก็อาจจะมีพรรคการเมืองเพียงหนึ่งเดียวที่มีความโดดเด่นเป็นอย่างมากเป็นระยะเวลายาวนาน บทบาทที่โดดเด่นของพรรคปฏิวัติสถาบัน(Institution Revolution Party)ในเม็กซิโกก็ดี หรือพรรคเดโมเครต (Democratic Party) ในทางตอนใต้ส่วนใหญ่ของสหรัฐอเมริกาก็ดี ในช่วงเวลานับจากปี ค.ศ. 1876 ถึงทศวรรษ 1950 ก็ดี ถือได้ว่าเป็นตัวอย่างของระบบพรรคการเมืองที่พรรคเดียวมีความโดดเด่น
ระบบพรรคการเมืองแบบพรรคเดียว
ระบบพรรคการเมืองแบบพรรคเดียว ใช้ในภาษาอังกฤษว่า Single-Party System เป็นระบบพรรคการเมืองในประเทศที่มีระบอบการปกครองแบบรวบอำนาจเบ็ดเสร็จ(Totalitarian Regimes) อนุญาตให้มีพรรคการเมืองได้เพียงพรรคเดียวเท่านั้น กระนั้นก็ตาม พรรคการเมืองเพียงพรรคเดียวนี้ก็จะมีอำนาจแตกต่างกันออกไป ในประเทศที่มีการปกครองแบบคอมมิวนิสต์(Communist Countries) อำนาจของพรรคคอมมิวนิสต์จะมีอย่างล้นเหลือในทุกๆด้าน เลขานุการคนแรกของพรรค (The First Secretary of The Party) อาจจะเป็นบุคคลสำคัญที่สุดในรัฐบาลแลในประเทศเลยก็ได้ และก็มีอยู่บ่อยๆที่เจ้าหน้าที่ชั้นสูงของพรรคไม่ใช่เจ้าหน้าที่ทางการของรัฐเป็นผู้มีอำนาจทางการเมืองอย่างแท้จริง
ระบบการเมืองที่ถูกครอบงำโดยพรรคฟัสซิสต์เพียงพรรคเดียวนั้นก็เป็นอีกตัวอย่างหนึ่งของระบบพรรคการเมืองเพียงพรรคเดียว ในเยอรมนีสมัยนาซีเรืองอำนาจนั้น พรรคสังคมนิยมแห่งชาติ(National Socialist Party-NSP) มีบทบาทสำคัญในประเทศ ระบบพรรคเดียวแบบฟัสซิสต์อื่นๆได้ถูกสร้างขึ้นมาโดยพรรคฟัสซิสต์ในอิตาลี พรรคฟารังส์(Falangs) ในสเปน และพรรคสหภาพแห่งชาติ(National Union) ในโปรตุเกส อย่างก็ดี พรรคการเมืองแบบพรรคเดียวเหล่านี้ไม่ได้มีความเข้มแข็งมากเท่าพรรคเอนเอสพี(NSP) ของเยอรมนี
ในคริสต์ศตวรรษที่ 20 มีระบบพรรคการเมืองแบบพรรคเดียวจำนวนหนึ่งที่ไม่ใช่แบบเดียวกับคอมมิวนิสต์และแบบฟัสซิสต์ได้เกิดขึ้นในเอเชีย แอฟริกา และละตินอเมริกา เป็นพรรคที่ยึดแนวทางการปฏิรูป และเป็นพรรคชาตินิยมที่ต้องการต่อสู้เพื่อปลดแอกของการตกเป็นอาณานิคมของต่างชาติ พรรคเหล่านี้ได้แก่ พรรคสหภาพสังคมนิยมอาหรับ(Arab Socialist Union Party) ในอียิปต์ พรรคประชาชนรีพับลิกัน(Republican People’s Party) ในตุรกี และพรรคนีโอเดสตัวร์(Neo-Destour) ในตูนิเซีย เป็นต้น
ระบบพรรคการเมืองแบบสองพรรค
ระบบพรรคการเมืองแบบสองพรรค ในภาษาอังกฤษใช้ว่า Two-Party System ในระบบพรรคการเมืองแบบสองพรรคนี้จะมีพรรคการเมืองอื่นๆ ซึ่งเรียกกันว่า พรรคการเมืองขนาดเล็ก(Minor Parties) ลงสมัครรับเลือกตั้งด้วย แต่พรรคการเมืองใหญ่สองพรรคจะได้รับการสนับสนุนกวาดคะแนนเสียงเลือกตั้งไปเกือบทั้งหมด และพรรคการเมืองหนึ่งในสองพรรคใหญ่นี้จะชนะได้คะแนนเสียงส่วนใหญ่แบบเด็ดขาดสามารถควบคุมทั้งฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติของรัฐบาล ทั้งสองพรรคใหญ่นี้ปกติจะผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันขึ้นครองอำนาจจัดตั้งรัฐบาล ระบบพรรคการเมืองของสหรัฐอเมริกาคือตัวอย่างแบบคลาสสิคของระบบพรรคการเมืองแบบสองพรรคที่ทำงานอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญที่กำหนดให้มีการแบ่งแยกอำนาจของรัฐบาลออกเป็นฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติอย่างเป็นทางการในระบบการปกครองแบบประธานาธิบดี(Formal Separation of the Executive and Legislative Branches of the Government) ส่วนระบบพรรคการเมืองในสหราชอาณาจักรและในนิวซีแลนด์นั้น เป็นตัวอย่างของระบบสองพรรคการเมืองภายใต้รูปแบบของรัฐบาลแบบรัฐสภา(Parliamentary Form of Government) อันเป็นระบบแบบรวมอำนาจของฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติ(A fusion of the Executive and Legislative Branches of the Government)
เมื่อเปรียบเทียบกับพรรคการเมืองของสหรัฐอเมริกาแล้ว พรรคขนาดใหญ่ในสหราชอาณาจักรและในนิวซีแลนด์เป็นพรรคแบบรวมอำนาจไว้กับส่วนกลางมากกว่า มีการจัดตั้งที่กว้างขวางกว่าและมีระเบียบวินัยเข้มงวดกว่าพรรคการเมืองของสหรัฐอเมริกา ในแคนาดาพรรคการเมืองแบบสองพรรคคือ พรรคอนุรักษ์หัวก้าวหน้า(Progressive Conservatives) และพรรคเสรีนิยม(Liberals) มีความเข้มแข็งมากจนถึงกับพูดได้ว่าเป็นระบบพรรคการเมืองแบบสองพรรคโดดเด่น(Predominantly Two-Party System) แม้ว่าพรรคการเมืองขนาดเล็กที่มีความสำคัญยังคงมีอยู่ในประเทศอยู่ก็ตาม ส่วนในออสเตรเลียนั้นระบบพรรคการเมืองทำงานอย่างมีประสิทธิภาพในระบบพรรคการเมืองสองพรรคอีกเช่นเดียวกัน เป็นระบบที่พรรคแรงงาน (Labour Party) แข่งขันกับพรรคเสรีนิยม(Liberal Party) กับพรรคพันธมิตรพรรคที่สามที่มีขนาดเล็กกว่าที่ชื่อว่าพรรคประเทศ(Country Party)
แต่ก็อย่างที่เคยกล่าวไว้ในข้างต้นแล้วว่า แม้แต่ในระบบพรรคการเมืองแบบสองพรรคเอง ก็ยังมีพรรคขนาดเล็กที่มีความสำคัญอยู่ในระบบด้วย ดังจะขอยกตัวอย่างเช่น ในการเลือกตั้งของอังกฤษและของแคนาดานั้น หากไม่มีพรรคการเมืองพรรคหนึ่งพรรคใดชนะการเลือกตั้งแบบได้เสียงข้างมากชนิดเด็ดขาดในสภานิติบัญญัติแล้ว พรรคที่ได้เสียงนำอีกพรรคหนึ่งนั้นก็มักจะต้องพึ่งพาการสนับสนุนจากพรรคขนาดเล็กในรัฐสภาเมื่อจะต้องลงคะแนนเสียงในเรื่องสำคัญในสภา
สำหรับพรรคขนาดเล็กในสหรัฐอเมริกานั้น ถึงแม้ว่าจะไม่ได้มีชัยชนะได้รับเสียงสนับสนุนเป็นกอบเป็นกำอะไรมากนัก แต่พรรคเหล่านี้บางครั้งก็จะมีผลสำคัญต่อหนึ่งในสองพรรคใหญ่ได้เหมือนกัน มีอยู่บ่อยครั้งที่พรรคการเมืองใหญ่ทั้งสองพรรคจะเปลี่ยนแปลงท่าทีเกี่ยวกับประเด็นของนโยบายที่สำคัญๆเพื่อเอาใจและป้องกันพรรคขนาดเล็กไม่ให้ลงคะแนนเสียงคัดค้านในสภา
ระบบหลายพรรคการเมือง
ระบบหลายพรรคการเมือง ในภาษาอังกฤษใช้ว่า Multiparty Systems เป็นระบบพรรคการเมืองที่มีมากกว่าระบบสองพรรคการเมือง ในประเทศที่มีระบบหลายพรรคการเมืองนี้ จะมีอย่างน้อยสามพรรค(ปกติแล้วจะมากกว่าสามพรรค) ได้คะแนนเสียงสนับสนุนและมีอำนาจทางการเมืองเป็นจำนวนมาก ระบบพรรคการเมืองแบบหลายพรรคนี้จะมีอยู่ดื่นดาดในแถบยุโรปตะวันตก ในเอเชีย ในแอฟริกา และในแถบละตินอเมริกา
ในยุโรปตะวันตก นับตั้งแต่เกิดการปฏิวัติทางด้านอุตสาหกรรมแล้ว พรรคเสรีนิยม พรรคอนุรักษ์นิยม และพรรคสังคมนิยมก็ได้ก่อกำเนิดขึ้น ส่วนพรรคคอมมิวนิสต์ก็มักจะพัฒนาในกาลต่อมาเป็นกลุ่มที่แตกแยกออกมาจากพรรคสังคมนิยมที่มีลักษณะเป็นกลางๆอักทีหนึ่ง พรรคคริสเตียนเดโมแครตต่างๆ(Christian Democratic Parties) ทีความเชื่อมโยงกับศาสนจักรโรมันคาทอลิก ก็มีความสำคัญมากขึ้น กระนั้นก็ดี พรรคการเมืองอื่นๆที่มีความสำคัญในระบบการเมืองแบบหลายพรรคก็ยังคงเป็นพรรคฝ่ายฟัวซิสต์บ้าง พรรคที่เป็นตัวแทนของชนกลุ่มน้อยแบบชาติพันธ์หรือเป็นตัวแทนในระดับภูมิภาคบ้าง พรรคในชนบท ซึ่งเป็นพรรคที่จัดตั้งขึ้นมาเพื่อเป็นปากเป็นเสียงของคนชนบทบ้าง พรรคของคนในเมืองบ้าง พรรคที่เป็นตัวแทนของนิกายทางศาสนานิกายใดนิกายหนึ่งบ้าง และพรรคที่จัดตั้งโดยอิงอาศัยหัวหน้าพรรคที่เป็นคนที่ได้รับความนิยมมากๆบ้าง
การมีพรรคการเมืองแบบหลายพรรคนี้ทำให้เป็นการยากที่จะทำการจัดตั้งรัฐบาลผสมที่มีเสถียรภาพเหมือนอย่างในกรณีของระบบพรรคการเมืองแบบสองพรรค ในบางครั้งพรรคการเมืองที่เข้มแข็งพรรคใดพรรคหนึ่งในระบบพรรคการเมืองแบบหลายพรรคอาจจะได้เสียงข้างมากแบบเด็ดขาด(Absolute Majority) คือได้ที่นั่งมากที่สุดในสภานิติบัญญัติก็ได้ นับตั้งแต่ปี ค.ศ. 1945 เป็นต้นมา ระบบพรรคการเมืองแบบหลายพรรคเกิดขึ้นตามห้วงเวลาต่างๆในอิตาลี ในเยอรมนีตะวันตก และในเบลเยียม แต่ตามปกติแล้วจะไม่มีพรรคการเมืองพรรคใดได้เสียงข้างมากในแบบเด็ดขาด(Clear-cut Majority) ในระบบพรรคการเมืองแบบหลายพรรค และจึงมีความจำเป็นจะต้องจัดตั้งรัฐบาลผสม(Coalition Government) โดยการนำพรรคการเมืองสองพรรคบ้างตั้งแต่สองพรรคขึ้นไปบ้างมาร่วมกันจัดตั้งรัฐบาลบริหารประเทศ
รัฐบาลผสมแบบนี้มักจะเปราะบาง(Fragile) ในบางครั้งรัฐบาลที่จัดตั้งขึ้นมาจะล้มครั้งแล้วครั้งเล่า และในแประเทศที่มีระบบพรรคการเมืองแบบหลายพรรคนี้อาจจะมีรัฐบาลสามสี่รัฐบาลหรือมากกว่านี้ในช่วงเวลาแค่ปีเดียวก็ได้ แต่ตรงกันข้ามรัฐบาลผสมในระบบพรรคการเมืองแบบหลายพรรคอาจจะมีเสถียรภาพยืนยงคงกระพันอยู่ได้ตลอดก็ได้ ในบางประเทศการเป็นพันธมิตรกันระหว่างพรรคการเมืองต่างๆมีการตกลงกันจนกลายเป็นเรื่องกึ่งถาวรไปเลยก็มี
สำหรับรูปแบบของการรัฐบาลแบบผสมจะมีข้อแตกต่างกันออกไปอีกมาก ในบางครั้งอาจจะมีการรวมกลุ่มของพรรคการเมืองฝ่ายขวาเพื่อเอาชะพรรคการเมืองฝ่ายซ้ายอย่างนี้ก็มี ในบางครั้ง มีการแบ่งฝักแบ่งฝ่ายในรูปแบบเหมือนในระบบสองพรรคดังเช่นที่พบในระบบการเมืองแบบสองพรรคอย่างนี้ก็มี ในบางประเทศรัฐบาลแบบผสมอาจนำอาพรรคที่มีแนวความคิดแบบกลางๆมารวมกันเป็นรัฐบาลเพื่อต่อต้านพรรคการเมืองที่รวมตัวกันของฝ่ายซ้ายและฝ่ายขว่าอย่างนี้ก็มีอีกเหมือนกัน ขอยกตัวอย่างเช่น ในฝรั่งเศสในระหว่างสาธารณรัฐที่ 4(The Fourth Republic) ซึ่งอยู่ในช่วงปี ค.ศ. 1946 ถึงปี ค.ศ. 1958 รัฐบาลผสมที่จัดตั้งขึ้นปกติเป็นการผสมกันในหมู่พรรคการเมืองแบบที่มีแนวความคิดแบบสายกลาง สำหรับฝ่ายคอมมิวนิสต์ที่อยู่ฝ่ายซ้ายและพวกกอลลิสต์ที่อยู่ฝ่ายขวาจะถูกกีดกันไม่ให้เข้ามาร่วมในการจัดตั้งรัฐบาลผสม ไม่ว่ารูปแบบของการจัดตั้งรัฐบาลผสมจะเป็นแบบไหน ล้วนแต่จะต้องใช้กระบวนการที่สลับซับซ้อนของการเจรจาต่อรองเพื่อให้สามารถจัดตั้งรัฐบาลและธำรงไว้ซึ่งรัฐบาลที่ตั้งขึ้นมาในระบบการเมืองแบบหลายพรรคนี้ทั้งนั้น
ความสัมพันธ์ระหว่างระบบการเลือกตั้งกับจำนวนพรรคการเมือง
รูปแบบของระบบการเลือกตั้งที่นำมาใช้ในประเทศใดประเทศหนึ่งสามารถมีอิทธิพลต่อจำนวนของพรรคการเมืองในประเทศนั้นๆ กล่าวกันว่าระบบการเลือกตั้งผู้แทนแบบสัดส่วน(Proportional Representation) มีแนวโน้มที่จะทำให้ระบบพรรคการเมืองของประเทศนั้นเป็นแบบหลายพรรค ทั้งนี้เพราะเป็นระบบที่ให้หลักประกันแม้แต่แก่พรรคที่ได้คะแนนเสียงจำนวนน้อยว่าจะได้บางที่นั่งในสภานิติบัญญัติ
ตรงกันข้ามระบบการเลือกตั้งที่ผู้สมัครรับเลือกตั้งหนึ่งคนถูกเลือกมาจากแต่ละเขตเลือกตั้งนั้น (เป็นการเลือกตั้งที่ไม่ใช้ระบบเลือกตั้งรอบสอง( Runoff Election) แต่เป็นแบบผู้สมัครรับเลือกตั้งคนใดได้คะแนนเสียงมากที่สุดจะเป็นผู้ได้รับการประกาศชื่อว่าเป็นผู้ชนะ) เขาบอกว่าเป็นระบบการเลือกตั้งที่ส่งเสริมให้มีระบบสองพรรคการเมือง เพราะว่าเป็นระบบที่เป็นโทษแก่พรรคการเมืองที่อาจจะได้คะแนนเสียงจำนวนหนึ่งแต่จะไม่ได้เสียงส่วนใหญ่ที่จำเป็นต่อการเลือกตั้งผู้สมัครรับเลือกตั้งในเขตเลือกตั้งเขตใดเขตหนึ่งเป็นการเฉพาะก็ได้
ตรงกันข้ามระบบการเลือกตั้งที่ผู้สมัครรับเลือกตั้งหนึ่งคนถูกเลือกมาจากแต่ละเขตเลือกตั้งนั้น (เป็นการเลือกตั้งที่ไม่ใช้ระบบเลือกตั้งรอบสอง( Runoff Election) แต่เป็นแบบผู้สมัครรับเลือกตั้งคนใดได้คะแนนเสียงมากที่สุดจะเป็นผู้ได้รับการประกาศชื่อว่าเป็นผู้ชนะ) เขาบอกว่าเป็นระบบการเลือกตั้งที่ส่งเสริมให้มีระบบสองพรรคการเมือง เพราะว่าเป็นระบบที่เป็นโทษแก่พรรคการเมืองที่อาจจะได้คะแนนเสียงจำนวนหนึ่งแต่จะไม่ได้เสียงส่วนใหญ่ที่จำเป็นต่อการเลือกตั้งผู้สมัครรับเลือกตั้งในเขตเลือกตั้งเขตใดเขตหนึ่งเป็นการเฉพาะก็ได้
ปัจจัยอย่างอื่นๆที่มีส่วนส่งอิทธิพลต่อการตัดสินว่าประเทศใดจะมีระบบพรรคการเมืองแบบใดนั้น ก็คือโครงสร้างและวัฒนธรรมของประเทศ ตลอดจนระบบรัฐธรรมนูญที่เป็นทางการ (ซึ่งก็รวมถึงระบบการเลือกตั้งด้วย) และประวัติศาสตร์ของพรรคการเมืองในประเทศ อันเป็นผลของการสืบทอดมรดกมาจากเหตุการณ์ทางการเมืองในอดีตของประเทศนั้นๆด้วย
--------------
คำถามท้ายบท
1.จงสรุปความของระบบพรรคเดียว ระบบสองพรรค และระบบหลายพรรค เท่าที่เวลาจะอำนวย
2.ระบบการเลือกตั้งมีความสัมพันธ์กับจำนวนของพรรคการเมืองได้อย่างไร จงอธิบายแต่พอสังเขป
3. “ The electoral system in which one legislator is elected from each constituency(with no runoff election and the candidate with the largest number of votes declared the winner) may encourage the development of a two-party system.”
3.1 จงแปลประโยคภาษาอังกฤษเป็นภาษาไทยให้ได้ความสละสลวย
3.2 ระบบการเลือกตั้งแบบใดที่ส่งเสริมให้มีระบบพรรคการเมืองแบบสองพรรค (ทั้งนี้ให้นำข้อมูลจากประโยคภาษาอังกฤษข้างต้นเป็นตัวช่วยในการตอบ)
สัปดาห์ที่ 6 : สมาชิกพรรคการเมือง
สัปดาห์ที่ 6
สมาชิกพรรคการเมือง
ในสัปดาห์นี้จะได้นำเสนอเรื่องของพรรคการเมืองในแง่มุมใหม่ต่อไปคือเรื่อง “สมาชิกพรรคการเมือง” ทั้งโดยมีประเด็นแตกออกไปดังนี้คือ:
1.ความหมายของสมาชิกพรรคการเมือง
2.ประเภทของผู้เข้าร่วมในกิจกรรมของพรรคการเมือง
3.สมาชิกของพรรคการเมืองไทย
4.พรรคที่มีลักษณะเผด็จการและไม่เป็นเผด็จการ
---------------------
ความหมายของสมาชิกพรรค
สมาชิกในสภา(Intra-parliamentary) หมายถึง สมาชิกพรรคการเมืองที่ได้รับเลือกเป็นสมาชิกรัฐสภา หรือสมาชิกของสภานิติบัญญัติ ซึ่งมักจะมีศักดิ์ศรีเหนือสมาชิกพรรคที่ไม่ได้รับเลือกตั้ง หรือสมาชิกพรรคธรรมดาทั่วๆไป
สมาชิกนอกสภา (Extra-parliamentary) หมายถึง สมาชิกพรรคการเมืองซึ่งมีสิทธิและหน้าที่ตามที่ได้กำหนดในข้อกำหนดของพรรคการเมือง ซึ่งหมายถึงทั้งสมาชิกพรรคธรรมดาหรือสมาชิกบุคคลและสมาชิกสมทบ และยังรวมไปถึงสมาชิกพรรคที่เป็นสมาชิกรัฐสภาอีกด้วย
คำว่า สมาชิก(Members) กับผู้เข้าร่วม(Adherents) เป็นคำที่มีความหมายตรงกัน ส่วนคำว่าผู้เห็นใจ(Sympathizers) หมายถึงผู้ที่อยู่นอกพรรค แต่ได้ให้ความช่วยเหลือแก่พรรคเป็นครั้งคราว เป็นผู้ที่เห็นด้วยกับอุดมการณ์ของพรรค แต่ไม่ได้สมัครเข้าเป็นสมาชิกอย่างถาวร
ประเภทของพรรคการเมือง
พรรคการเมืองแบ่งเป็น 2 ประเภท คือ พรรคมวลชน และ พรรคชนชั้น
1.พรรคมวลชน
พรรคมวลชน(Mass-Based Parties)เป็นพรรคการเมืองโดยตรง(Direct Parties) จะประกอบด้วยสมาชิกประเภทเดียวกันคือ สมาชิกบุคคล ซึ่งเมื่อได้เข้าร่วมในพรรคแล้ว ผู้เข้าร่วมก็จะได้รับการศึกษาในทางการเมือง เนื่องจากสมาชิกส่วนใหญ่เป็นผู้ใช้แรงงาน เช่นกรณีพรรคสังคมนิยมในยุโรปยุคเริ่มต้น
2.พรรคชนชั้น
พรรคชนชั้น(Cadre Parties)หรือพรรคดั้งเดิม(Traditional Parties)นั้น พื้นฐานของพรรคอยู่ที่คณะกรรมการหรือคอคัส มีโครงสร้างที่หลวม กระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น มีลักษณะของพรรคเชี่ยวชาญเฉพาะ โดยเฉพาะในเรื่องของการหาเสียงเลือกตั้ง พรรคชนชั้นมีจำนวนสมาชิกเข้าร่วมไม่มาก พรรคนี้เป็นที่รวมของชนชั้นสูง เป็นผู้มีเกียรติ มีอิทธิพลในสังคม ตั้งขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์หลักคือการเลือกตั้ง ใช้ความมีชื่อเสียงและอิทธิพลโน้มน้าวและสนับสนุนการเลือกตั้ง สมาชิกที่เป็นผู้เชี่ยวชาญก็ใช้ความสามรถในด้านเทคนิคของการหาเสียงโน้มน้าวชักจูงผู้ลงคะแนนเสียง สมาชิกที่มีทรัพย์สินก็ให้การสนับสนุนทางด้านการเงิน เป็นพรรคการเมืองที่คำนึงถึงคุณภาพของสมาชิกมาก
การเข้าเป็นสมาชิกพรรค
ในการเข้าเป็นสมาชิกของพรรคการเมืองนั้น พิจารณาได้ 2 ลักษณะ คือการเข้าร่วมอย่างไม่มีเงื่อนไข และการเข้าร่วมอย่างไม่มีเงื่อนไข และจะพิจารณาการเข้าร่วมเป็นสมาชิกในพรรคการเมืองของไทยในอดีตด้วย
1.การเข้าร่วมอย่างไม่มีเงื่อนไข
การเข้าร่วมพรรคการเมืองอย่างอิสระไม่มีเงื่อนไขไม่มีระเบียบการใดๆทั้งสิ้น ซึ่งปรากฏอยู่ในพรรคการเมือองชนชั้นหรือดั้งเดิม การเข้าเป็นสมาชิกไม่ต้องใช้ระเบียบการไม่มีกฎเกณฑ์ การจ่ายค่าสมัครหรือค่าบำรุงไม่ต้องกระทำเป็นประจำ แต่กระทำในบางโอกาส
2.การเข้าร่วมอย่างมีเงื่อนไข
ในพรรคมวลชนตรงกันข้าม จะต้องประกอบด้วยขั้นตอนที่สำคัญ คือ การลงนามสมัครเข้าเป็นสมาชิก การจ่ายค่าบำรุงพรรค รวมทั้งการยอมรับเงื่อนไขและระเบียบต่างๆของพรรค
การเข้าเป็นสมาชิกของพรรคการเมืองของไทย
โดยทั่วไปแล้วการกำหนดคุณสมบัติเกี่ยวกับสมาชิกของพรรคการเมืองแต่ละพรรค จะปรากฏอยู่ในข้อบังคับของพรรค เช่น ที่ปรากฏในพรรคการเมืองของไทยในอดีต 3 พรรค
ก.พรรคชาติสังคมประชาธิปไตย(National Social Democratic Party) ซึ่งก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ. 2493 ได้กำหนดคุณสมบัติของสมาชิกพรรคไว้ว่า จะต้องเป็นผู้มีคุณสมบัติตามกฎหมายเลือกตั้ง ต้องมีอายุเกิน 20 ปี อ่นออกเขียนได้ ไม่วิกลจริต ไม่เคยถูกศาลพิพากษาจำคุก การรับเข้าเป็นสมาชิกพรรคนั้น ไม่ว่าจะเป็นสมาชิกสามัญหรือสมาชิกสมทบ จะต้องยื่นใบสมัครตามแบบที่กำหนด เมื่อมติที่ประชุมให้รับไว้และประกาศรับ ณ สำนักงานพรรค 15 วัน และไม่มีผู้ใดคัดค้าน
ข. พรรคสหประชาไทย(United Thai People’s Party) ก่อตั้งเมื่อ พ.ศ. /2511 ได้กำหนดคุณสมบัติของผผู้จะสมัครเข้าเป็นสมาชิกไว้ว่า ได้แก่บุคคลสัญชาติไทย เห็นชอบกับนโยบายของพรรค ยอมเสียค่าบำรุงพรรคตามกำหนด
ค.พรรคประชาธิปัตย์(Democrat Party) ก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ. 2489 ได้กำหนดคุณสมบัติของผู้ที่ต้องการเป็นสมาชิก ตามข้อบังคับ พ.ศ. 2522 ไว้ว่า ผู้ที่มีคุณสมบัติตามกฎหมายว่าด้วยพรรคการเมืองจะมีสิทธิ์สมัครเป็นสมาชิกได้
ง.การเป็นสมาชิกตามพระราชบัญญัติพรรคการเมืองไทยปัจจุบัน ตามกฎหมายพรรคการเมืองปัจจุบัน เริ่มมาจากการโฆษณาพรรคให้คนสนใจเข้าร่วม การทำหนังสือเชิญชวนที่ต้องแสดงชื่อพรรค เครื่องหมาย แนวนโยบายของพรรค และชื่อ อาชีพ และที่อยู่ของผู้ซึ่งเป็นคณะผู้ริเริ่มจัดตั้งพรรคการเมือง
ประเภทของผู้เข้าร่วมในกิจกรรมพรรค
1.ผู้เลือกตั้ง(Electors or Voters) หรือผู้ที่มีสิทธิออกเสียงลงคะแนนเลือกตั้งสมาชิกรัฐสภาตามกฎหมาย โดยปกติจะเป็นผู้ออกเสียงสนับสนุนผู้สมัครรับเลือกตั้งสังกัดพรรคการเมืองที่ตนสนับสนุน หรือเห็นพ้องกับนโยบายของพรรค เป็นกลุ่มที่สนับสนุนพรรคที่ปรากฏอยู่ทั่วไป
2.ผู้สนับสนุน(Supporters) คือบุคคลที่เห็นด้วยและสนับสนุนพรรคการเมืองและเป็นผู้เลือกตั้งด้วย แต่บทบทบาทมากกว่าผู้เลือกตั้ง ยอมรับว่าตนมีใจอยู่กับพรรคใดพรรคหนึ่ง เป็นที่ยอมรับ ชมชอบ ปกป้องพรรค ให้เงินช่วยเหลือแก่พรรค
3. ผู้ดำเนินพรรค(Militant) เป็นกลุ่มวงในหรือแกนกลางของพรรค สำคัญที่สุดเพราะเป็นผู้ดำเนินกิจการของพรรค กลุ่มนี้ประกอบด้วยบรรดาผู้นำทั้งหลายของพรรค ในพรรคดั้งเดิมหรือชนชั้น ได้แก่ กลุ่มที่ประกอบเป็นคอคัส หรือ caucus-men ถือว่าเป็นสมาชิกที่มีบทบาทเกื้อหนุนพรรค
4. สมาชิกพรรค(Members) ได้แก่ บุคคลที่เป็นส่วนหนึ่งของพรรคการเมือง เป็นผู้ที่สมัครใจเข้าร่วมกิจกรรมพรรคโดยถูกต้องเป็นทางการ ถ้าหากจะเปรียบเทียบกับ 3 กลุ่มที่กล่าวมาแล้ว ก็จะอยู่ในระหว่างผู้สนับสนุนและผู้ดำเนินงานของพรรค การเข้าร่วมกิจกรรมพรรคลึกซึ้งกว่าผู้สนับสนุน แต่น้อยกว่าผู้ดำเนินงานพรรค เมื่อเปรียบเทียบกันถึงผลดีผลเสียของการมีสมาชิกพรรคกับการมีผู้สนับสนุน ผู้เลือกตั้ง และผู้ดำเนินงานของพรรคแล้ว ระบบการมีสมาชิกจะมีประสิทธิภาพมากกว่า
การจัดลำดับความสำคัญของผู้เข้าร่วมพรรค ตามทัศนะของโรเบิร์ต มิเชล ได้จัดลำดับความสำคัญไว้คือ ฐานล่างสุด คือผู้ออกเสียงลงคะแนน(Voters) ซึ่งมีจำนวนมากลำดับต่อมาคือสมาชิกพรรคที่สมัครโดยถูกต้อง ชั้นที่ 3 คือองค์กรที่ประชุม ต่อมาก็คือเจ้าหน้าที่ชั้นสูงของพรรค และยอดสูงสุดก็คือคณะกรรมาธิการหรือองค์กรนำของพรรคนั่นเอง
สมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์
การเข้าเป็นสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์ของสหภาพโซเวียต CPSU นั้นเปิดโอกาสให้ทุกคนที่สนใจและยอมรับเงื่อนไข คือ ยอมรับกฎข้อบังคับพรรค เสียค่าบำรุงพรรค อายุเกิน 23 ปี ต้องเป็นสมาชิกทดลอง (Candidate member) เสียก่น 1 ปี เพื่อดูบุคลิกและคูความสามารถและความประพฤติ เมื่อครบกำหนดจึงเป็นสมาชิกสมบูรณ์(Full membership) การสมัครต้องให้สมาชิกเก่าที่อยู่ในพรรคไม่น้อยกว่า 5 ปี จำนวน 3 นาย และต้องรู้จักหรือเคยทำงานร่วมกันไม่น้อยกว่า 1 ปี เป็นผู้รับรอง
การพ้นจากสมาชิกภาพ ก็โดยการขาดการชำระเงินติดต่อกน โดยไม่มีเหตุผลพียงพอ ไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่และรักษากฎข้อบังคับของพรรคได้ และสมาชิกถูกขับออกจากพรรค
สมาชิกพรรคการเมืองไทย
1.พรรคชาติสังคมประชาธิปไตย(National Social Democratic Party) ได้กำหนดประเภทของสมาชิกไว้ 4 ประเภท คือ
ก. สมาชิกสามัญ หมายถึง ผู้ที่ดำรงหรือเคยดำรงตำแหน่งทางการเมือง เช่นวุฒิสมาชิก สมาชิกสภาผู้แทน รัฐมนตรี
ข.สมาชิกวิสามัญ หมายถึง ผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 20 ปีขึ้นไป แต่มิได้เป็นสมาชิกรัฐสภาหรือข้าราชการประจำ
ค.สมาชิกกิตติมศักดิ์ หมายถึง ผู้ที่ให้ทรัพย์สินหรือเงินแก่พรรค จำนวนตั้งแต่ 10,000 บาทขึ้นไป
ง.สมาชิกสมทบ หมายถึง ผู้ที่มิได้เป็นสมาชิก 3 ประเภทดังกล่าว แต่ต้องไม่เป็นบุคคลต้องห้ามตามกฎฆมายเลือกตั้ง
2.พรรคสหประชาไทย(United Thai People’s Party) ตามธรรมนูญ(ข้อบังคับ) ของพรรค ได้กำหนดประเภทของสมาชิกไว้ 2 ประเภท คือ
ก.สมาชิกกิตติมศักดิ์ ได้แก่ บุคคลที่พรรคเห็นสมควรเชิญเข้าเป็นสมาชิก สมาชิกประเภทนี้ไม่ต้องเสียค่าบำรุง
ข. สมาชิกสามัญ ได้แก่ บุคคลที่เห็นชอบกับนโยบายของพรรค เห็นชอบกับธรรมนูญของพรรค ยอมปฏิบัติตามระเบียบวินัยของพรรค ยอมเสียค่าบำรุงพรรคตามที่กำหนด สมัครใจทำงานให้แก่พรรคตามความสามารถ
3.พรรคประชาธิปัตย์(Democrat Party) ได้กำหนดประเภทของสมาชิกไว้ 3 ประเภท คือ
ก.สมาชิกกิตติมศักดิ์ ได้แก่ ผู้ที่อุปการคุณแก่พรรค หรือมีคุณวุฒิพิเศษ ซึ่งคณะกรรมการอำนวยการได้มีมติเชิญเป็นสมาชิกกิตติมศักดิ์
ข. สมาชิกสามัญ ได้แก่ ผู้ที่เสียค่าบำรุงพรรคเป็นประจำ มีอายุ 18 ปีบริบูรณ์ มีสัญชาติไทยตามกฎหมาย ไม่ต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก เว้นแต่ความผิดลหุโทษ ความผิดประมาท ความผิดเกี่ยวกับการเมืองในกรณีพิเศษ คณะกรรมการอำนวยการอาจพิจารณารับผู้ขาดคุณสมบัติตามข้อนี้เป็นสมาชิกได้
ค.สมาชิกสมทบ ได้แก่ ผู้ที่มีคุณสมบัติเช่นเดียวกันกับคุณสมบัติของสมาชิกสามัญ มีอายุตั้งแต่ 15 ปีขึ้นไป
พรรคที่มีลักษณะเผด็จการและไม่เผด็จการ
1.พรรคที่มีลักษณะเผด็จการ คือพรรคที่มีลักษณะการรวมอำนาจเบ็ดเสร็จ(Totalritarian) เป็นพรรคที่เน้นความสำคัญของผลประโยชน์ของพรรคว่าอยู่เหนือผลประโยชน์ของสมาชิกและเหนือผลประโยชน์ชองประเทศชาติ ครอบครัว ญาติ มิตร เป็นพรรคที่มีจุดหมายแน่นอน มีความเด็ดขาด มีระเบียบวินัยเคร่งครัด เช่น พรรคคอมมิวนิสต์ พรรคฟัสซิสต์ สรุปได้ว่า ลักษณะของพรรคเผด็จการนั้นมุ่งเอาเอกลักษณ์ในความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน ความศักดิ์สิทธิ์ของพรรค ระเบียบวินัยที่เข้มงวด ผู้เข้าเป็นสมาชิกจะต้องยอมรับสิ่งเหล่านี้
2.พรรคที่มีลักษณะไม่เผด็จการ เป็นลักษณะของพรรคที่มีสายการบังคับบัญชาไม่เข้มแข็ง มีลักษณะของกลุ่มผู้เชี่ยวชาญ ไม่มีเอกภาพเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน สมาชิกจะแบ่งออกเป็นหลายฝ่ายความคิด
สรุปได้ว่า การเป็นสมาชิกการเมือง นอกจากจะหมายถึงการเป็นส่วนประกอบสำคัญของพรรคการเมืองแล้ว ในส่วนที่เป็นบทบาทของสมาชิกนั้น สมาชิกในพรรคการเมือง เช่น พรรคการเมืองในสหรัฐอเมริกา จะมีบทบาทในด้านกำหนดนโยบาย(Platform) ซึ่งนโยบายนี้จะต้องได้รับความเห็นชอบจากที่ประชุมใหญ่ของพรรค สำหรับพรรคมวลชน อย่างเช่น พรรคสังคมนิยม พรรคฟัสซิสต์ และพรรคคอมมิวนิสต์ ซึ่งมีโครงสร้างเป็นแบบรวมอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาด(Totalitarian) สมาชิกในระดับปลายแถวจะไม่มีสิทธิ์มีเสียงในการตัดสินใจในนโยบาย แต่จะมีกลุ่มหัวกระทิที่เป็นชนกลุ่มน้อยของพรรคจำนวนไม่กี่คนเท่านั้นเป็นผู้กำหนดนโยบาย(Platform) ของพรรค
---------------------
คำถามท้ายบท
1.จงแสดงประเภทของผู้เข้าร่วมในกิจกรรมประเภทต่างๆ คือ ผู้เลือกตั้ง, ผู้สนับสนุน, ผู้ดำเนินงานพรรค และ สมาชิกพรรค
2. การเข้าเป็นสมาชิกพรรคการเมืองไทย แบบเข้าร่วมอย่างไม่มีเงื่อนไง และการเข้าร่วมอย่างมีเงื่อนไง แตกต่างกันอย่างไร
3. “The French political scientist Maurice Duverger drew a distinction between cadre parties and mass parties. Cadre parties were political elites that were concerned with contesting elections and restricted the influence of outsiders. Mass parties tried to recruit new members who were a source of party income and were often expected to spread party ideology as well as assist in elections.”
3.1 จงแปลประโยคภาษาอังกฤษข้างต้นเป็นภาษาไทยให้ได้ความสละสลวย
3.2 มอริส ดูแวร์เช่ นักรัฐศาสตร์ชาวฝรั่งเศส บอกถึงข้อแตกต่างระหว่างพรรคชนชั้น(Cadre parties) กับพรรคมวลชน(Mass Parties) ว่าอย่างไร โดยให้ใช้คำแปลจากประโยคภาษาอังกฤษข้างต้นเป็นตัวช่วยในการตอบคำถามข้อนี้
สัปดาห์ที่ 5 ลักษณะทั่วไปและโครงสร้างของพรรคการเมือง
สัปดาห์ที่ 5
ลักษณะทั่วไปและโครงสร้างของพรรคการเมือง
สัปดาห์นี้จะได้นำเสนอเรื่องพรรคการเมืองต่อไป โดยจะได้กล่าวถึง 2 ประเด็นย่อยคือ:
1.ลักษณะทั่วไปของพรรคการเมือง
2.โครงสร้างของพรรคกาเมือง
-----------------------------
ลักษณะทั่วไปของพรรคการเมือง
ลักษณะทั่วไปของพรรคการเมืองที่จะนำเสนอต่อไปนี้เป็นการแบ่งตามแนวคิดของศาสตราจารย์มอริช ดูแวร์เช่
ศาสตราจารย์มอริช ดูแวร์เช่(Maurich Duverger) เป็นผู้เชี่ยวชาญทางด้านพรรคการเมืองชาวฝรั่งเศส ได้แบ่งพรรคการเมืองออกเป็น 3 แบบ คือ พรรคดั้งเดิมหรือพรรคชนชั้น พรรคมวลชน และพรรคกึ่งมวลชนกึ่งชนชั้น หรือแบบผสม
1.พรรคชนชั้น(Cadre Party)หรือพรรคดั้งเดิม(Traditional Party) เป็นลักษณะของกลุ่มการเมืองของชนชั้นสูง ที่บุคคลรวมกลุ่มกันโดยมีบุคคลคนเดียวมีอิทธิพลเหนือทุกคน มักจะเป็นกลุ่มขุนนาง อำมาตย์ที่มีอำนาจในราชสำนักในยุโรปโดยมีแม่ทัพเป็นผู้นำ ดังนั้นพรรคชนชั้นเป็นพรรคการเมืองที่ประกอบด้วยสมาชิกที่มีฐานะดีในสังคม มีชื่อเสียงและมีอิทธิพลในทางเศรษฐกิจ
1.1 พรรคชนชั้นแบบยุโรป
เป็นพรรคการเมืองที่เกิดขึ้นในคริสต์ศตวรรษที่ 19 ที่ถือว่าเป็นพรรคต้นแบบของพรรคชนชั้นได้แก่
-พรรคอนุรักษ์นิยม(Conservative Party)
-พรรคเสรีนิยม(Liberal Party)
-พรรคก้าวหน้า(Radical Party)
1.2 พรรคแบบชนชั้นแบบอเมริกัน
พรรคการเมืองของสหรัฐอเมริกา ได้ก่อกำเนิดขึ้นหลังจากเสร็จสิ้นสงครามกู้เอกราชจากอังกฤษในปี ค.ศ. 1785 ลักษณะก็คือลักษณะของพรรคชนชั้นเหมือนในยุโรป คือมีการรวมอำนาจไว้กับส่วนกลาง ต้องการสมาชิกจำนวนมากแต่ต้อเป็นบุคคลที่มีชื่อเสียง โครงสร้างของพรรคหลวม มีภารกิจทางการเมืองเดียวคือการเลือกตั้งสมาชิกรัฐสภา โดยการส่งสมาชิกของพรรคเข้าสมัครรับเลือกตั้ง
นอกจากลักษณะเหมือนกับพรรคชนชั้นในยุโรปแล้ว สิ่งที่เป็นพิเศษของพรรคชนชั้นแบบอเมริกัน ในตอนต้นคริสต์ศตวรรษที่ /20 ก็คือ ได้มีการกำหนด ระบบการเลือกตั้งขั้นต้น(System of Primary Election) หรือการทดสอบคะแนนเสียง(Pre-voting) ซึ่งหมายความว่าเปิดโอกาสให้ประชาชนทั่วไปที่สนใจในพรรคการเมืองใดๆได้มีโอกาสเข้าร่วมเสนอชื่อ และลงคะแนนหยั่งเสียงแก่ผู้สมัครเข้ารับเลือกตั้งในนามของพรรคใดพรรคใดพรรคหนึ่ง
ความจำเป็นในการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้ง ทำให้พรรคการเมืองอเมริกันพัฒนาพรรคให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น ระบบนี้คือ การจัดองค์การพรรคที่ถาวรที่เริ่มจาก องค์การระดับเขตเลือกตั้งย่อยที่เรียกว่า ปรีซินต์(Precints) คือเป็นเขตเลือกตั้งที่เล็กที่สุด มีผู้ออกเสียงประมาณ 400-500 คนไปจนถึงระดับชาติ
ในขณะนี้พรรคชนชั้นกลางที่เจริญเติบโตในสหรัฐอเมริกามีอยู่ 2 พรรคใหญ่ เป็นตัวแทนสองอุดมการณ์ของอเมริกาที่สลับกันครองอำนาจทางการเมือง คือ
-พรรคแนวทางเสรีนิยม คือพรรค Democrat Party)
-พรรคแนวทางอนุรักษ์นิยม คือพรรค Republican Party
2.พรรคมวลชน
พรรคมวลชน (Mass-Based Party) ถือกำเนิดขึ้นในปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19 โดยกลุ่มสังคมนิยม หรือขบวนการสังคมนิยม(Socialist Movements) จากกลุ่มขบวนการได้พัฒนามาเป็นพรรคการเมืองชื่อว่าพรรคสังคมนิยม เป็นพรรคที่เน้นและให้ความสำคัญแก่มวลชน(Mass)นอกจากพรรคสังคมนิยมแล้ว ยังมีพรรคการเมืองต่างอุดมการณ์พยายามเลียนแบบ เช่น พรรคคอมมิวนิสต์ พรรคฟาสซิสต์ พรรคชาตินิยม และพรรคคริสเตียนประชาธิปไตย พรรคมวลชนเป็นลักษณะของพรรคการเมืองที่เน้นปริมาณของสมาชิกเป็นเรื่องหลัก และคุณภาพของสมาชิกเป็นเรื่องรอง รูปแบบของพรรคมวลชนมีอยู่ 3 รูปแบบ คือ แบบสังคมนิยม แบบคอมมิวนิสต์ และแบบฟาสซิสต์
2.1พรรคมวลชนแบบสังคมนิยม
พรรคมวลชนแบบสังคมนิยม(Socialist Mass-Based Party) มุ่งหมายที่จะรวบรวมสมาชิก แสวงหาสมาชิกให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ จุดมุ่งหมายสำคัญอีกประการหนึ่งของพรรคก็คือ การจัดหาทุนช่วยเหลือแก่ผู้สมัครรับเลือกตั้ง ซึ่งเป็นคนชั้นผู้ใช้แรงงานและมีอึดมการณ์เปลี่ยนแปลงสังคม ซึ่งบุคคลเหล่านี้ไม่สามารถที่จะขอความช่วยเหลือสนับสนุนทางการเงินจากบรรดานายทุนทั้งหลาย เช่น นายธนาคาร นักอุตสาหกรรม เจ้าของที่ดิน
ในเรื่องของสมาชิก พรรคสังคมนิยมปัจจุบันได้ให้ความสำคัญแก่มวลชนมาก การรับสมัครสมาชิกกระทำโดยตรง และเปิดสู่สาธารณะ ในลักษณะที่ถาวร เมื่อสมัครเข้าเป็นสมาชิกแล้ว ก็ต้องจ่ายค่าบำรุงเป็นประจำ การคัดเลือกตัวแทนของพรรคในการเลือกตั้งทั่วไป จะต้องผ่านความเห็นชอบจากองค์กรใหญ่เสียก่อน
ในการศึกษาทางการนั้น พรรคสังคมนิยม เน้นความสำคัญของการศึกษาทางการเมือง การให้ความรู้ทางการเมืองแก่สมาชิกและประชาชนที่สนใจทั่วไป
2.2 พรรคมวลชนแบบคอมมิวนิสต์
พรรคมวลชนแบบคอมมิวนิสต์(Communist Mass-Based Party) มีกำเนิดพรรคแรกในยุโรปตะวันตก เป็นผลมาจากความขัดแย้งภายในพรรคสังคมนิยม เมื่อปี ค.ศ. 1920 ในเรื่องแนวทางไปสู่สังคมนิยม ฝ่ายแรกเห็นว่าการเป็นสังคมกระทำได้โดยทางสันติและค่อยเป็นค่อยไป ฝ่ายหลังเห็นว่าการเป็นสังคมนิยมจะต้องใช้วิธีการรุนแรง ฝ่ายแรกยังคงอยู่ในพรรคประเภทสังคมนิยม พวกหลังแยกตัวออกมาเป็นพวกคอมมิวนิสต์
2.3 พรรคมวลชนแบบฟัสซิสต์
พรรคมวลชนแบบฟัสซิสต์(Fascist Mass-Based Party) คือพรรคการเมืองที่มีอุดมการณ์ชาตินิยมขวาสุด ลักษณะการจัดองค์การพรรคก็ใช้วิธีเดียวกับพรรคคอมมิวนิสต์ การจัดโครงสร้างของพรรคนี้มีลักษณะเผด็จการ มีความเข้มงวด รวมอำนาจไว้ที่ส่วนกลาง ผู้นำพรรคมีความสำคัญอย่างยิ่งยวด จัดองค์การพรรคแบบทหารหรือกองทัพ เน้นในเรื่องวินัยของสมาชิกรวมทั้งปริมาณของสมาชิก สมาชิกของพรรส่วนใหญ่เป็นส่วนหนึ่งของหน่วยหน้า หรือเรียกว่า หน่วยจู่โจมซึ่งติดอาวุธ และยังมีหน่วยสำรองไว้อีก ผลจากการพัฒนาพรรคฟัสซิสต์ทำให้เกิดรูปแบบของพรรค/2 แบบ แบบแรกปรากฏอยู่ในสังคมที่มีความก้าวหน้าทางวิชาการ เช่น ประเทศเยอรมนี สำหรับแบบที่สอง ปรากฏอยู่ในประเทศที่มีความเจริญในทางวิชาการน้อย เช่น ประเทศสเปน และโปรตุเกส
3.พรรคกึ่งมวลชน กึ่งชนชั้น หรือแบบผสม (Mixed Party)
การที่พรรคการเมืองมีองค์การพรรคแบบผสม หมายถึงการผสมระหว่างการผสมระหว่างการจัดองค์การแบบชนชั้นและแบบมวลชน(Intermediate) ซึ่งมักจะปรากฏอยู่ในพรรคการเมืองที่เกิดขึ้นโดยทางอ้อม(Indirect Parties) และในพรรคการเมืองในประเทศกำลังพัฒนาทั้งหลาย มีลักษณะใกล้เคียงกับพรรคมวลชนมากกว่าพรรคชนชั้น
3.1 พรรคที่เกิดขึ้นโดยทางอ้อม
พรรคที่เกิดขึ้นโดยทางอ้อม หมายถึงพรรคการเมืองที่ไม่มีการรับสมาชิกโยตรง แต่มีสมาชิกที่เป็นองค์การผลประโยชน์ต่างๆ เช่น สหพันธ์ สหกรณ์ องค์การ สมาคม ชมรม ซึ่งคณะกรรมการระดับต่างๆของพรรคนี้ จะประกอบด้วยผู้แทนที่มาจากองค์การดังกล่าว
พรรคแรงงานอังกฤษ(The British Labour Party)
ก่อนปี ค.ศ. 1900 พรรคแรงงานอังกฤษประกอบด้วยสมาชิกที่เป็นองค์การ พอหลังปี ค.ศ. 1900 พรรคนี้ก็ยอมรับสมาชิกอีกประเภทหนึ่งคือ สมาชิกบุคคล รูปแบบของพรรคแรงงานอังกฤษก่อนปี ค.ศ. 1900 เป็นที่นิยมในเวลาต่อมา โดยมีพรรคสังคมนิยมหลายประเทศได้นำไปปรับปรุงให้เข้ากับสภาพของสังคมนั้น
ในส่วนของผู้นำ เปลี่ยนระบบซึ่งแต่เดิมยึดถือเอาความมีชื่อเสียง ความสำคัญในตัวบุคคล เพื่อให้ดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรค มาเป็นการให้ความสำคัญแก่คณะกรรมการ คณะกรรมการนี้ประกอบด้วยผู้นำของหน่วยงานต่างๆ เป็นตัวแทนทางการของหน่วยงานของตน พรรคโดยทางอ้อมนี้มีสมาชิกมากมาย สมาชิกส่วนใหญ่จึงเป็นสมาชิกโดยทางอ้อม การเป็นสมาชิกของผู้สนใจก็เป็นการผ่านองค์การที่ตนสังกัดอยู่ จึงเป็นพรรคการเมืองที่มีลักษณะคาบเกี่ยวระหว่างพรรคชนชั้นสูงกับพรรคมวลชน
3.2. พรรคการเมืองในประเทศกำลังพัฒนา
ในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สอง พรรคการเมืองในประเทศกำลังพัฒนาได้มีการพัฒนาและเจริญเติบโตอย่างมากมาย แม้ว่าในบางลักษณะพรรคการเมืองเหล่านี้ก็ไม่ได้แตกต่างในขั้นพื้นฐานไปจากพรรคการเมืองในยุโรปตะวันตก และในอเมริกาเหนือ สำหรับพรรคคอมมิวนิสต์ในจีน ในเวียดนาม ในลาว ในคิวบา ในเกาหลีเหนือ ก็ไม่ได้แตกต่างในขั้นพื้นฐานไปจากคอมมิวนิสต์รัสเซียเท่าใดนัก พรรคการเมืองในแอฟริกามีลักษณะเฉพาะและคล้ายคลึงกันกับพรรคชนชั้นมากกว่าพรรคมวลชน โดยให้ความสำคัญแก่กลุ่มผู้นำมากกว่ามวลสมาชิก สรุปได้ว่าในประเทศด้อยพัฒนาลักษณะโครงสร้างของพรรคการเมืองทั้งที่เป็นอนุรักษ์นิยมและเสรีนิยมนั้น มีพื้นฐานมาจากกลุ่มผู้มีชื่อเสียงและผู้มีอิทธิพลเพียงไม่กี่คน ส่วนพรรคมวลชนถึงแม้จะเน้นปริมาณแต่ก็ให้ความสำคัญสมาชิกเป็นสำคัญด้วยเช่นกัน
พรรคการเมืองในประเทศกำลังพัฒนา เกิดขึ้นมาจากสาเหตุ 2 ประการ
1.อิทธิพลที่ได้จากระบบรัฐสภาและระบบประธานาธิบดีของเจ้าอาณานิคมเดิม ที่มาจากยุโรปและอเมริกา
2.ในทวีปเอเชียและแอฟริกา ขบวนการชาตินิยมต่อสู้จักรวรรดินิยม เป็นผลให้เกิดพรรคการเมืองแนวทางชาตินิยม(The Nationalist Parties) ขึ้นมา ภารกิจสำคัญของพรรค ก็คือ ระดมพลเมืองให้สนับสนุนการต่อสู้และต่อต้านเจ้าของอาณานิคม เพื่อความเป็นเอกราชในทุกๆด้าน โดยเฉพาะทางการเมือง ตัวอย่างพรรคการเมืองเช่นว่านี้คือ
-พรรคคองเกรสของอินเดีย
-พรรคสมัชชาประชาชนของกานา
-พรรคพันธมิตรมาเลเซีย
โครงสร้างของพรรคการเมือง
โครงสร้างของพรรคการเมือง มี 2 รูปแบบ คือ
1. โครงสร้างโดยตรง(Direct Structure)
โครงสร้างโดยตรง หมายถึงว่า พรรคการเมืองนั้นมีโครงสร้างหรือส่วนประกอบเกิดขึ้นโดยทางตรง ส่วนประกอบนี้หมายถึงสมาชิกที่เป็นบุคคลธรรมดา หรือเอกชน ปัเจกชน ที่เริ่มต้นโดยการสมัครเข้าเป็นสมาชิกตามระเบียบและวิธีการที่พรรคนั้นๆได้กำหนดไว้ เมื่อพรรคพิจารณาใบสมัครและเห็นควรควรรับเป็นสมาชิก บุคคลนั้นก็มีสิทธิและหน้าที่ในฐานะสมาชิกของพรรคนั้นโดยสมบูรณ์
2. โครงสร้างโดยอ้อม(Indirect Structure)
พรรคการเมืองมีโครงสร้างโดยอ้อม หมายถึงมีส่วนประกอบ(สมาชิก) เกิดขึ้นโดยทางอ้อม คือบุคคลที่ต้องการเป็นสมาชิกของพรรคนั้น จะติดต่อสมัครเป็นสมาชิกโดยตรงเหมือนพรรคโดยตรงไม่ได้ ลักษณะของพรรคการเมืองชนิดนี้ ก็คือ เป็นพรรคที่ประกอบด้วยองค์การ สมาคม สโมสร ชมรมต่างๆ เป็นกล่มทางเศรษฐกิจ กลุ่มวัฒนธรรม กลุ่มทางสังคม
โครงสร้างโดยทางอ้อม เป็นลักษณะของพรรคแรงงานอังกฤษ(The British Labour Party) เป็นพรรคเกิดจากการรวมตัวกันระหว่างสหภาพการค้า สมาคมสหกรณ์ สมาคมมิตรภาพ กลุ่มปัญญาชน องค์การกุศลสงเคราะห์ต่างๆ การจัดองค์การพรรคค่อนข้างยุ่งยากซับซ้อน เพราะประกอยด้วยองค์การอิสระจำนวนมากที่มาร่วมเป็นพันธมิตร เพื่อวัตถุประสงค์ทางการเมือง
พรรคการเมืองโครงสร้างโดยอ้อมแบ่งเป็น 3 แบบ คือ
1 พรรคสังคมนิยม(Socialist Parties) ส่วนสำคัญของพรรค ได้แก่ สหบาลกรรมกร สหกรณ์แรงงาน สมาคมสงเคราะห์แรงงาน พรรคนี้อยู่ในฐานะของชนชั้นในสังคมชั้นหนึ่ง โโยเฉพาะชนชั้นผู้ใช้แรงงาน
2.พรรคคาทอลิก(Catholic Parties) เป็นพรรคซึ่งประกอบด้วยสหพันธ์สหบาล และสหพันธ์กรรมกรที่ไปรวมกันกับบรรดาสมาคมชาวไร่ ชาวนา บรรดาหอการค้าและสมาคมนักอุตสาหกรรม หมายความว่า เป็นพรรคการเมืองที่ได้รวมเอาบรรดาชนชั้นในสังคมที่แตกต่างกันมาไว้ด้วยกัน โดยที่เอกภาพของแต่ละกลุ่มที่กล่าวมาก็ไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม
3.พรรคชาวไร่ชาวนา (Agrarian Parties) เกิดจากการรวมตัวกันของบรรดาสหพันธ์ และสหภาพของชาวนาชาวไร่ คือผู้ใช้แรงงานด้านเกษตรกรรมเช่นเดียวกับการวมตัวของกรรมกรในพรรคแรงงาน แต่การรวมตัวเป็นพรรคการเมืองของชาวไร่ชาวเกษตรกรไม่เข้มแข็งเหมือนกับกรรมกรภาคอุตสาหกรรม
---------------------------
คำถามท้ายบท
1.พรรคชนชั้นมีข้อแตกต่างจากพรรคมวลชนอย่างไร ให้อธิบายแต่สังเขป
2.จงบอกถึงข้อแตกต่างระหว่างพรรคการเมืองที่มีโครงสร้างโดยตรงกับพรรคการเมืองที่มีโครงสร้างโดยอ้อม
3. “ Cadre parties, which developed in Europe and the United States in the 19th century, are dominated by small group of politically active individuals. They typically based their support on a relatively small segment of the population.”
3.1 จงแปลประโยคภาษาอังกฤษข้างต้นเป็นภาษาไทยให้ได้ความที่สละสลวย
3.2 จงบอกด้วยว่า พรรคชนชั้น(Cadre Parties) ที่พัฒนาในยุโรปและสหรัฐอเมริกามีลักษณะเป็นอย่างไรบ้าง
สัปดาห์ที่ 4 : กำเนิดและวิวัฒนาการของพรรคการเมือง
สัปดาห์ที่ 4
กำเนิดและวิวัฒนาการของพรรคการเมือง
เมื่อได้รู้จักคำนิยามของพรรคการเมือง หน้าที่และบทบาทของพรรคการเมืองแล้ว ต่อไปพวกเราก็ควรจะได้รู้และเข้าใจถึงประวัติของการกำเนิดและวิวัฒนาการของพรรคการเมืองเป็นอันดับต่อไป
โดยคำบรรยายและกิจกรรมในคราวนี้ครอบคลุมสาระ 3 ประการกล่าวคือ:
1.กำเนิดของพรรคการเมือง
2.วิวัฒนาการของพรรคการเมือง
3.การตอบคำถามท้ายบท
กำเนิดของพรรคการเมือง
ในระยะเริ่มแรกของการตั้งพรรคการเมือง ได้ประสบกับอุปสรรคหลายประการ กล่าวคือรัฐบาลในระบอบการปกครองแบบราชาธิปไตย(Monarchies) ต่างๆโดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุโรปได้พยายามขัดขวางมิให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรรวมตัวกันเป็นพรรคการเมืองขึ้น เพราะรัฐบาลหวั่นเกรงว่าพรรคการเมืองต่างๆจะร่วมมือกันโค่นล้มรัฐบาล ในประเทศเยอรมนีได้ออกกฎหมายห้ามจัดตั้งสมาคม ซึ่งเท่ากับว่าไม่ยินยอมให้มีการจัดตั้งพรรคการเมืองนั่นเอง
อย่างไรก็ดีระยะหลังนี้ความคิดในเรื่องพรรคการเมืองได้เปลี่ยนแปลงไป ทั้งนี้เพราะรัฐบาลในหลายประเทศเห็นว่าการขัดขวางมิให้มีการจัดตั้งพรรคการเมืองนั้นไม่สามารถจะกระทำได้เพราะโดยสภาพธรรมชาติของมนุษย์ชอบที่จะรวมกลุ่มกันในหมู่พวกที่มีความคิดในทางการเมืองและเศรษฐกิจตรงกัน ครั้นเมื่อประชาธิปไตยได้เจริญเติบโตเต็มที่ในคริสต์ศตวรรษที่ 19 พรรคการเมืองจึงได้เป็นทียอมรับและเป็นเครื่องมือสำคัญในการสนับสนุนการปกครองระบอบประชาธิปไตยมาจนถึงปัจจุบันนี้
สำหรับกำเนิดของพรรคการเมืองนอกสภาผู้แทนราษฎรในระยะเริ่มแรกนั้น ได้เกิดขึ้นจากการรวมตัวของกลุ่มประชาชนในรูปของสมาคม เช่น สมาคมผู้แทนราษฎร และสมาคมปรัชญา เป็นต้น คือยังมิได้มีการจัดตั้งพรรคการเมืองอย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน และอาจกล่าวได้ว่าสมาคมดังกล่าวได้มีส่วนสำคัญในการก่อกำเนิดพรรคการเมือง ซึ่งการกำเนิดของพรรคการเมืองในสมัยก่อนนั้นมีที่มา 2 แบบด้วยกันกล่าวคือ
1.การกำเนิดของพรรคการเมืองในรัฐสภาและในระหว่างการเลือกตั้ง(Electoral and Parliamentary Origin of Parties) สำหรับกำเนิดของพรรคการเมืองแบบนี้เป็นการเริ่มต้นจากการที่ได้มีการรวบรวมบรรดาผู้แทนราษฎรขึ้นเป็นกลุ่มในรัฐสภา หลังจากนั้นจึงได้มีการจัดตั้งคณะกรรมการดำเนินการเลือกตั้ง เพราะว่ากลุ่มผู้แทนของรัฐสภามีความจำเป็นที่จะต้องติดต่อและมีความสัมพันธ์กับคณะกรรมการดำเนินการเลือกตั้งเสมอ ครั้นถึงคริสต์ศตวรรษที่ 19 ได้มีการชายสิทธิการเลือกตั้งออกไปทำให้เกิดพรรคการเมืองซึ่งมีนโยบายสังคมนิยมในยุโรป
2. การกำเนิดของพรรคการเมืองนอกรัฐสภา(Parliamentary Origin of Parties) การกำเนิดของพรรคการเมืองนอกรัฐสภาเป็นการกำเนิดโดยได้รับอิทธิพลหรือการแทรกแซงจากองค์การภายนอกอันได้แก่บรรดากลุ่มและสมาคม เช่น สมาคมปรัชญาและสมาคมหนังสือพิมพ์ สำหรับในประเทศอังกฤษนั้นมีกิจกรรมของสหพันธ์ได้มีส่วนสำคัญยิ่งในการก่อกำเนิดพรรคกรรมกร
อย่างไรก็ดีในส่วนที่เกี่ยวกับกำเนิดของพรรคการเมืองในยุคสมัยนี้ เกิดขึ้นจากผลของการจำกัดอำนาจรัฐบาลและการขยายสิทธิการลงคะแนนเสียงอย่างกว้างชวาง โจเซฟ ลาพาลอมบารา(Joseph Lapalombara) และ ไทรอน ไวเนอร์ (Myron Weiner) ได้อธิบายกำเนิดของพรรคการเมืองโยเสนอทฤษฎีไว้ดังนี้
1.ทฤษฎีสถาบัน(Institutional Theories) เป็นทฤษฎีที่อธิบายว่า กำเนิดของพรรคการเมืองนั้นเกิดขึ้นจากการรวมตัวกันในรูปของสโมสรและกลุ่ม ซึ่งสืบต่อมาภายหลังได้กลายเป็นพรรคการเมือง เช่น สโมสรจาโคแบง(Jacobin) ในประเทศฝรั่งเศส
2.ทฤษฎีประวัติศาสตร์และสถานการณ์(Historical-Situational Theories) ทฤษฎีนี้ได้อธิบายกำเนิดพรรคการเมืองว่า เกิดจากวิกฤติการณ์ทางประวัติศาสตร์และสถานการ์บางประการ ซึ่งจำแนกได้เป็น 3 รูปแบบดังนี้
2.1 วิกฤติการณ์ความชอบธรรม(Legitimacy Crisis) เป็นวิกฤติการณ์อันเป็นผลสืบเนื่องมาจากการที่ประชาชนเกิดความสำนึกว่าโครงสร้างอำนาจการปกครองของรัฐที่เป็นอยู่มีลักษณะไม่ชอบธรรม ประชาชนจึงสำนึกที่จะรวมกลุ่มกันขึ้นเป็นพรรคการเมือง ทั้งนี้โดยมีวัตถุประสงค์ที่จะหาวิธีการให้เกิดการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างอันไม่ชอบธรรมธรรมนั้น
2.2 วิกฤติการณ์ความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน(Integration Crisis) กล่าวได้ว่าความสำนึกในวิกฤติการณ์ความเป็นน้ำหนึงใจเดียวกันเกิดขึ้นมาเพราะความสืบเนื่องอันเป็นผลมาจากวิกฤติการณ์ความชอบธรรม กล่าวคือเมื่อประชาชนเกิดความสำนึกว่ารัฐบาลปฏิบัติหน้าที่อันแสดงให้เห็นซึ่งความไม่ชอบธรรม ประชาชนเหล่านั้นก็จะรวมตัวกันเข้าเป็นพรรคการเมืองโดยแสวงหาโอกาสที่จะจัดตั้งรัฐบาลขึ้น ทั้งนี้เพื่อจะนำนโยบายของพรรคตนทั้งในทางเศรษฐกิจ การเมือง และสังคม เข้าไปอำนวยประโยชน์ในการบริหารประเทศ
2.3 วิกฤติการณ์มีส่วนร่วม(Participation crisis) วิกฤติการณ์ประเภทนี้มีสาเหตุมาจากเกิดการเปลี่ยนแปลงด้านเศรษฐกิจและสังคมขึ้นในหลายประเทศในยุโรปตะวันตก วิกฤติการณ์ดังกล่าวทำให้เกิดการรวมกลุ่ม เช่นกลุ่มกรรมกร จึงได้มีการจัดตั้งพรรคกรรมกรเสนอตัวเข้าไปมีส่วนร่วมทางการเมืองทั้งนี้เพื่อคุ้มครองและรักษาผลประโยชน์ของพวกตนไว้
3.ทฤษฎีพัฒนาการ(Development Theories) ทฤษฎีนี้อธิบายว่า กำเนิดของพรรคการเมืองเป็นผลของพัฒนาการ 2 ประการ คือ
3.1 ผลของพัฒนาการทางการเมืองได้เปลี่ยนแปลงทัศนคติของประชาชน กล่าวคือประชาชนรู้สึกตัวว่าตนมีสิทธิในการใช้อำนาจทางการเมือง จึงได้เกิดความคิดที่จะจัดตั้งพรรคการเมืองขึ้นมา
3.1 ชนชั้นนำทางการเมือง(Political elite) มีความประสงค์ที่จะได้รับการสนับสนุนขากประชาชน โยชนชั้นนำทางการเมืองเหล่านั้นมีความต้องการที่จะรักษาสถานภาพและอำนาจของพวกตนไว้ ทำให้เกิดการจัดตั้งพรรคการเมืองเพื่อรักษาผลประโยชน์ของตน เช่น พวกพ่อค้าและนายธนาคารเป็นต้น
วิวัฒนาการของพรรคการเมือง
วิวัฒนาการของพรรคการเมือง อาจแบ่งไดเป็น 5 ระยะ หรือ 5 สมัย ดังนี้
1.สมัยเริ่มต้น เพิ่งจะเริ่มต้นจริงเมื่อต้นคริสต์ศตวรรษที่ 19 หรือประมาณร้อยกว่าปีมานี้เอง โดยเริ่มต้นในประเทศยุโรปโดยเฉพาะในอังกฤษก่อนแล้วขยายไปสหรัฐอเมริกา พรรคการเมืองในระยะเริ่มแรกนี้เป็นเพียงการรวมกลุ่มของสมาชิกสภาผู้แทนที่มีความเห็นหรืออุดมการณ์คล้ายคลึงกัน เช่น พวกเสรีนิยม(Liberals) พวกอนุรักษ์นิยม(Conservatives) พวกสาธารณรัฐนิยม(Republicans) พวกประชาธิปไตย(Democrats) พวกนิยมกษัตริย์(Monarchists) พวกสนับสนุนราชวงศ์โบนาพาท(Bonapatists) เป็นต้น
พรรคการเมืองในสมัยเริ่มต้นนี้ ยังมีลักษณะจำกัด 2 ประการ คือ
ก.พรรคการเมืองเป็นกลุ่มของพวกอภิสิทธิ์ชน(Aristocrat) และพวกกุฎุมพี(Bourgeois)
ข. การรับบุคคลเข้าเป็นสมาชิกมีการคัดเลือกเข้มงวด การต่อสู้ทางการเมืองในระยะนั้นอาจเรียกได้ว่าจำกัดอยู่ในวงของขุนนางและผู้มีอันจะกิน
2.สมัยที่ 2 เริ่มต้นในครึ่งหลังของคริสต์ศตวรรษที่ 19 ในระยะนี้พรรคการเมืองได้พัฒนาก้าวหน้าไปอีกชั้นหนึ่ง เนื่องจากในระยะนี้ได้มีการขายสิทธิ์เลือกตั้งทั่วไป จึงทำให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งมีจำนวนมากขึ้น พรรคการเมืองต่างๆจึงมีความจำเป็นที่จะต้องจัดตั้งองค์การกลางของพรรคขึ้น เพื่อทำหน้าที่รวบรวมคะแนนเสียงสนับสนุนพรรครวบรวมเงินทุนและจัดทำนโยบาย
3.สมัยที่ 3 เริ่มขึ้นในปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19 เป็นระยะที่พรรคการเมืองได้พัฒนาออกไปนอกรัฐสภา โดยมีการจัดตั้งพรรคการเมืองนอกรัฐสภา(Extra-Parliamentary) ขึ้นโยบุคคลต่างๆซึ่งไม่สนใจที่จะสมัครเป็นสมาชิกรัฐสภา แต่ประสงค์จะดำเนินการเมืองนอกรัฐสภา พรรคการเมืองนอกรัฐสภานี้มักจะขอความสนับสนุนจากชนชั้นใดชั้นหนึ่ง โดยเฉพาะชนชั้นคนงาน มีการชักชวนกันเข้ามาเป็นสมาชิกอย่างกว้างขวาง มีการเก็บค่าบำรุงพรรค สมาชิกมีส่วนร่วมในการดำเดินงานของพรรคมากขึ้น นโยบายของพรรคเน้นเฉพาะผลประโยชน์กลุ่มชนชั้นหนึ่งชั้นใดมากขึ้น
4. สมัยที่ 4 เริ่มขึ้นหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 โดยได้กำเนิดพรรคการเมืองแบบเคร่งวินัย คือ พรรคคอมมิวนิสต์ ซึ่งยึดถือความสัตย์ซื่อของสมาชิกแต่ละคนเป็นสิ่งสำคัญ การจ่ายค่าบำรุงอย่างเดียวไม่เพียงพอ สมาชิกจะต้องทำงานและปฏิบัติกิจกรรมตามกฎข้อบังคับพรรค การรับสมัครสมาชิกมีการคัดเลือกมาก โดยเฉพาะต้องมีคุณภาพ ต้องอุทิศตัวและมีวินัย ซึ่งปกติจะมาจากที่ทำงาน เช่น โรงงาน ข้าราชการ มหาวิทยาลัย โรงเรียน และมีการประชุมกันเสมอ นอกจากนั้น ยังถือว่าพรรคเป็นหัวใจสำคัญของระบบการเมืองของประเทศด้วย
5. สมัยที่ 5 เกิดขึ้นภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2โดยเฉพาะทศวรรษ 1950พรรคการเมืองในประเทศตะวันตกและประเทศที่เป็นสังคมอุตสาหกรรมก้าวหน้า(รวมทั้งญี่ปุ่น) ได้เปลี่ยนแปลงลักษณะพรรคการเมืองบางประการ กล่าวคือได้เริ่มสูญเสียอุดมการณ์ พรรคทั้งหมดได้กลายเป็นพรรคของสังคมที่แตกสลาย เพราะความก้าวหน้าทางอุตสาหกรรม ได้แบ่งออกเป็นกลุ่มต่างๆมากมาย ดังนั้น พรรคการเมืองจึงกลายเป็นทั้งตัวแทน(Representative) และนักปฏิรูป(Reformist) พรรคจะเกี่ยวข้องกับปัญหาบางอย่างโดยเฉพาะและแสวงหาทางแก้ไขปัญหานั้นๆ กล่าวคือ เป็นพรรคปฏิบัติการ(Pragmatic) มากกว่าอุดมการณ์ โดยการปรับปรุงอุดมการณ์ให้เข้ากับสภาพการเปลี่ยนแปลงของสังคมมากขึ้น เพื่อหวังจะได้รับเลือกตั้งมากที่สุด
------------------------------------------
คำถามท้ายบท
1.กำเนิดของพรรคการเมืองในสมัยก่อนมีที่มา 2 แบบ คืออะไรบ้าง จงอธิบายมาแต่พอสังเขป
2.โจเซฟ ลาพาลอมบารา และ ไมรอน ไวเนอร์ ได้อธิบายกำเนิดของพรรคการเมืองโดยเสนอทฤษฏีอะไรไว้บ้าง จงอธิบายมาแต่พอสังเขป
3. "The first political parties in Europe and America were the children of representative institutions, an expanding suffrage, and liberal democracy. They tended to develop first within parliaments or legislature."
3.1ให้อ่านประโยคภาษาอังกฤษข้างต้นแล้วแปลเป็นภาษาไทยให้มีความสละสลวย
3.2 พรรคการเมืองในยุโรปและอเมริกามีแนวโน้มว่ามีวิวัฒนาการครั้งแรก ณ ที่ใด
สัปดาห์ที่ 3 : หน้าที่และบทบาทของพรรคการเมือง
สัปดาห์ที่ 3
หัวข้อบรรยายเรื่อง”หน้าที่และบทบาทของพรรคการเมือง”
ในการศึกษาพรรคการเมือง เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว เราได้ศึกษาถึงความหมายของพรรคการเมืองมาอย่างละเอียดจนเป็นที่เข้าใจกันดีแล้ว มาถึงสัปดาห์นี้จะได้นำเสนอเรื่องของพรรคการเมืองหัวข้อเรื่อง” หน้าที่และบทบาทของพรรคการเมือง” โดยได้สรุปถึงหน้าที่และบทบาทของพรรคการเมือง เป็น 8 หัวข้อย่อยดังต่อไปนี้:
1.พรรคการเมืองมีบทบาทและหน้าที่กำหนดผู้สมัครเข้าแข่งขันในการเลือกตั้ง
2.พรรคการเมืองทำหน้าที่มอบทางเลือกทางการเมืองให้แก่ผู้ลงคะแนนเสียง
3.พรรคการเมืองเป็นแหล่งที่มาของอำนาจทั้งปวงของรัฐในระบอบการปกครองแบบอำนาจนิยมและระบอบเผด็จการ
4.พรรคการเมืองทำหน้าที่เป็นตัวเชื่อมโยงระหว่างฝ่ายประชาชนกับฝ่ายรัฐบาล
5.พรรคการเมืองทำหน้าที่ช่วยให้ผู้อยู่ในอำนาจมีความรับผิดชอบต่อผู้ลงคะแนนเสียง
6.พรรคการเมืองทำหน้าที่ระดมและคัดสรรผู้สมัครับเลือกตั้ง
7.พรรคการเมืองทำหน้าที่เป็นคนกลางในการประสานประโยชน์ระหว่างกลุ่มต่างๆในสังคม
8.พรรคการเมืองทำหน้าที่ประสานความร่วมมือระหว่างสมาชิกพรรคของฝ่ายบริหาร ฝ่ายนิติบัญญัติ และฝ่ายอื่นๆ
-----------------------------
พรรคการเมือง(Political Parties)มีหน้าที่และบทบาท(Functions and Roles) ต่างๆภายในระบบการเมือง(Polical System) ที่มีอยู่ในโลกทั้งในระบอบการเมืองการปกครองแบบเผด็จการและระบอบการเมืองการปกครองแบบเสรีประชาธิปไตย ในประเทศที่มีการเมืองและการปกครองด้วยระบอบเผด็จการก็มีพรรคการเมืองเหมือนกันแต่มีบทบาทและหน้าที่เฉพาะเพื่อครองอำนาจทางการเมือง และสร้างความชอบธรรมทางการเมือง(Political Legitimacy) เท่านั้น ซึ่งแตกต่างเป็นอย่างมากจากพรรคการเมืองในระบอบการเมืองและการปกครองแบบเสรีประชาธิปไตย ดังจะได้นำเสนอต่อไปนี้
1.พรรคการเมืองมีบทบาทและหน้าที่กำหนดผู้สมัครเข้าแข่งขันในการเลือกตั้ง
หน้าที่และบทบาทของพรรคการเมืองลักษณะนี้ในภาษาอังกฤษเรียกว่า To Choose Candidates and run a Campaign
ในระบบการปกครองแบบประชาธิปไตย หรือในสังคมแบบประชาธิปไตยนั้น พรรคการเมืองจะพยายามแข่งแข่งขันเพื่อให้ชนะการเลือกตั้งเพื่อจะได้เข้าควบคุมหน่วยงานสาธารณะต่างๆในการรณรงค์แข่งขันการเลือกตั้ง ทั้งนี้พรรคการเมืองก็จะมีหน้าที่และบทบาทเป็นผู้กำหนดตัวผู้ที่จะลงสมัครรับเลือกตั้งและจะพยายามรณรงค์ชี้ชวนให้ผู้มีสิทธิ์ลงคะแนนเสียงได้ลงคะแนนเสียงสนับสนุนแก่ผู้สมัครรับเลือกตั้งของฝ่ายตน
2.พรรคการเมืองทำหน้าที่มอบทางเลือกทางการเมืองให้แก่ผู้ลงคะแนนเสียง
หน้าที่และบทบาทของพรรคการแบบในแง่นี้เรียกในภาษาอังกฤษว่า To Offer a Choice of Office-seekers and Programs to the Voters
พรรคการเมืองมักจะนำเสนอทางเลือกเกี่ยวกับผู้สมัครรับเลือกตั้งและนโยบายให้แก่ผู้ลงคะแนนเสียง และวางแนวทางในการถ่ายโอนอำนาจจากกลุ่มหนึ่งไปสู่อีกกลุ่มหนึ่งภายในระบบของรัฐบาล
3. พรรคการเมืองเป็นแหล่งที่มาของอำนาจทั้งปวงของรัฐในระบอบการปกครองแบบอำนาจนิยมและระบอบเผด็จการ
หน้าที่และบทบาทในแง่นี้ในภาษาอังกฤษใช้ว่า Prime Source of Political Power
ในระบบพรรคการเมืองแบบมีพรรคการเมืองพรรคเดียว(One Party System)นั้น พรรคการเมืองเพียงพรรคเดียวอย่างเช่นพรรคคอมมิวนิสต์(Communist Parties) ในอดีตสหภาพโซเวียต จีน เวียดนาม ลาว คิวบา และเกาหลีเหนือ หรือพรรคฟัสซิสต์(Fascist Parties) ในช่วงก่อนและระหว่างสงครามโลกครั้งที่สองทั้งในเยอรมนีและอิตาลี รวมตอดถึงในประเทศอื่นๆในยุโรป เอเชีย และละตินอเมริกานั้น อาจจะกลายเป็นแหล่งสำคัญของอำนาจทางการเมืองภายในรัฐหรือประเทศนั้นไปเลยก็ได้ เพราะเป็นพรรคการเมืองเหล่านี้เป็นพรรครวมอำนาจไว้กับส่วนกลาง(Centralized)และในบุคคลชั้นหัวกระทิ(Elites)ของพรรคเพียงไม่กี่คน การตัดสินใจทางการเมืองจีงมีลักษณะจากบนลงมาล่าง(Up to Down) พรรคการเมืองเพียงพรรคเดียวนี้จะส่งคนของตนเข้าไปเข้าควบคุมแบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาดทั้งในกลไกของรัฐและกลไกของสังคม
4. พรรคการเมืองทำหน้าที่เป็นตัวเชื่อมโยงระหว่างฝ่ายประชาชนกับฝ่ายรัฐบาล
บทบาทและหน้าที่ของพรรคการเมืองในแง่นี้เรียกในภาษาอังกฤษว่า To Be A Broker or Mediator Among Various Interest Groups
พรรคการเมืองจะใช้วิธีการระดมติมหาชน จึงสามารถทำหน้าที่และมีบทบาทเป็นช่องทางสำหรับการขอรับการสนับสนุนหรือต่อต้านรัฐบาลอย่างใดอย่างหนึ่งจากประชาชนก็ได้ ซึ่งโดยวิธีการแบบนี้พรรคการเมืองก็จึงอาจทำหน้าและมีบทบาทเป็นนายหน้าหรือตัวกลางเชื่อมโยงที่สำคัญระหว่างประชาชนและรัฐบาลได้เป็นอย่างดี
5.พรรคการเมืองทำหน้าที่ช่วยให้ผู้อยู่ในอำนาจมีความรับผิดชอบต่อผู้ลงคะแนนเสียง
บทบาทและหน้าที่ของพรรคการเมืองในลักษณะนี้ในภาษาอังกฤษใช้ว่า
To Help to hold Officials Accountable to the Voters
พรรคการเมืองในระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตย จะดำเนินในการมอบทางเลือกให้แก่พวกที่อยู่ในอำนาจ ให้ปฏิบัติหน้าที่อย่างมีประสิทธิภาพและมีประสิทธิผล ซึ่งในแง่นี้พรรคการเมืองก็จะมีหน้าที่และบทบาทช่วยให้เจ้าหน้าที่ของรัฐมีความรับผิดชอบต่อผู้ลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง มิฉะนั้นพวกเขาก็จะไม่ได้รับการสนับสนุนคะแนนเสียงสนับสนุนในการเลือกตั้งในครั้งต่อไปก็ได้
6. พรรคการเมืองทำหน้าที่ระดมและคัดสรรผู้สมัครับเลือกตั้ง
หน้าที่และบทบาทของพรรคการเมืองในลักษณะนี้เรียกว่า To Mobilize and Nominate Candidate
พรรคการเมืองก็ยังจะยังมีบทบาทและทำหน้าที่ในการช่วยคัดเลือกและระดมผู้สมัครรับเลือกตั้งที่มีความรู้ความสามารถเพื่อสมัครเข้าแข่งขันเข้าสู่ตำแหน่งในหน่วยงานสาธารณะต่างๆ ส่วนผู้ลงคะแนนเสียงก็จะหมดความวิตกกังวลในเรื่องของผู้สมัครรับเลือกตั้งเพราะเป็นบุคคลที่ผ่านการคัดสรรจากพรรคการเมืองที่ตนสังกัดนั้นแล้ว ซึ่งเข้าในลักษณะที่พูดๆกันว่าในระบอบการปกครองที่มีพรรคการเมืองแบบประชาธิปไตยนั้น “พรรคเลือกคน ประชาชนเลือกพรรค”
7.พรรคการเมืองทำหน้าที่เป็นคนกลางในการประสานประโยชน์ระหว่างกลุ่มต่างๆในสังคม
ในภาษาอังกฤษเรียกบทบาทและหน้าของการเมืองในลักษณะนี้ว่าTo Reconcile the Interests of Conflicting Groups in Society
พรรคการเมืองบางพรรคจะพยายามรณรงค์เรียกร้องผู้ลงคะแนนเสียงหลากหลายกลุ่มเพื่อให้มาเป็นมารวมกันเป็นพันธมิตรให้มีพลังเพียงพอที่จะเข้าปกครองประเทศได้ ในกระบวนการแบบนี้ พรรคการเมืองก็จึงมีบทบาททำหน้าที่เป็นเสมือนหนึ่งว่าเป็นนายหน้าหรือเป็นคนกลางในระหว่างกลุ่มผลประโยชน์ต่างๆ ซึ่งก็อาจจะเป็นตัวตั้งตัวตีตีช่วยประนีประนอมผลประโยชน์ของกลุ่มที่ขัดแย้งกันในสังคมได้เป็นอย่างดี
8.พรรคการเมืองทำหน้าที่ประสานความร่วมมือระหว่างสมาชิกพรรคของฝ่ายบริหาร ฝ่ายนิติบัญญัติ และฝ่ายอื่นๆ
ในภาษาอังกฤษเรียกการทำหน้าที่และบทบาทของพรรคการเมืองในลักษณะนี้ว่า To be a Link among Parties Members in Various Branches of Government
ปกติพรรคการเมืองที่ชนะการเลือกตั้งมาจัดตั้งรัฐบาลบริหารประเทศนั้น จะมีสมาชิกของพรรคส่วนหนึ่งไปทำหน้าที่อยู่กับฝ่ายบริหาร กับอีกส่วนหนึ่งไปทำหน้าที่อยู่กับฝ่ายนิติบัญญัติและในส่วนอื่นๆของรัฐบาล ซึ่งสมาชิกพรรคที่อยู่ในฝ่ายบริหารของรัฐบาล อาจจะต้องทำงานอย่างใกล้ชิดกับเหล่าสมาชิกของพรรคของฝ่ายในฝากฝั่งฝ่ายนิติบัญญัติและในระดับอื่นๆของรัฐบาล ทั้งนี้ได้โดยมีพรรคการเมืองเป็นผู้มีหน้าที่และบทบาทเป็นผู้ประสานความร่วมมือ
-------------------
คำถามท้ายบท
1.จงอธิบายถึงบทบาทและหน้าที่ของพรรคการเมืองในระบอบการเมืองการปกครองเผด็จการขวาจัด(ฟัสซิสต์) และซ้ายจัด(คอมมิวนิสต์)
2.จงสรุปบทบาทและหน้าที่ของพรรคการเมืองในระบอบเสรีประชาธิปไตยว่ามีอะไรบ้างมาแต่พอสังเขป
3. จงแปลประโยคภาษาอังกฤษข้างล่าง และให้บอกด้วยว่ามีใจความแสดงถึงบทบาทและหน้าที่ในข้อใดของพรรคการเมือง
“In democratic societies, political parties typically attempt to win control of public offices in competitive election campaigns. They nominate candidates and attempt to persuade the electorate to vote for those candidates.”
สมัครสมาชิก:
บทความ (Atom)
บทความที่ได้รับความนิยม
-
สัปดาห์ที่ 3 หัวข้อบรรยาย เรื่อง ” หน้าที่และบทบาทของพรรคการเมือง ” ในการศึกษาพรรคการเมือง เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว เราได้ศึกษาถึงความหมายของพรร...
-
สัปดาห์ที่ 4 กำเนิดและวิวัฒนาการของพรรคการเมือง เมื่อได้รู้จักคำนิยามของพรรคการเมือง หน้าที่และบทบาทของพรรคการเมืองแล้ว ต่อไปพวกเราก็ควรจะ...
-
สัปดาห์ที่ 7 ระบบพรรคการเมือง สำหรับในสัปดาห์นี้ กระบวนการเรียนการสอนก็จะเข้าสู่บทเรียนในหัวข้อ “ ระบบพรรคการเมือง ” ซึ่งมีขอบข่ายของก...
-
สัปดาห์ที่ 5 ลักษณะทั่วไปและโครงสร้างของพรรคการเมือง สัปดาห์นี้จะได้นำเสนอเรื่องพรรคการเมืองต่อไป โดยจะได้กล่าวถึง 2 ประเด็นย่อยคือ: ...
-
ระบบการเลือกตั้ง ที่จะนำเสนอในสัปดาห์นี้ยังเป็นเรื่องในหมวดของ “ การเลือกตั้ง ” โดยมุ่งไปที่ระบบการเลือกตั้ง ที่มีสาระครอบคลุมหัวข้อย่อ...
-
สัปดาห์ที่ 2 :เรื่อง”ความหมายของพรรคการเมือง ” สาระของคำบรรยาย ประกอบด้วย : 1. เสนอคำนิยามของพรรคการเมืองทั้งที่เป็นภา...
-
ความหมายของกลุ่มผลประโยชน์ ที่จะนำเสนอต่อไปนี้เป็นการเริ่มต้นศึกษาเรื่องราวของ กลุ่มกดดัน( Pressure groups) หรือกลุ่มผลประโยชน์( Intere...
-
สัปดาห์ที่ 6 สมาชิกพรรคการเมือง ในสัปดาห์นี้จะได้นำเสนอเรื่องของพรรคการเมืองในแง่มุมใหม่ต่อไปคือเรื่อง “ สมาชิกพรรคการเมือง ” ทั้งโดยมีป...
-
ประมวลรายวิชา พรรคการเมือง กลุ่มผลประโยชน์ และการเลือกตั้ง Course Syllabus ๑. รหัสวิชา :SO ๒๐๐๗ ...
-
สัปดาห์ที่ 8: สอบกลางภาค วิชาพรรคการเมือง กลุ่มผลประโยชน์ และการเลือกตั้ง ข้อสอบมีรูปแบบเป็นข้อสอบแบบปรนัยและอัตนัย