วันพฤหัสบดีที่ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

สัปดาห์ที่ 4 : กำเนิดและวิวัฒนาการของพรรคการเมือง

สัปดาห์ที่ 4
กำเนิดและวิวัฒนาการของพรรคการเมือง

 เมื่อได้รู้จักคำนิยามของพรรคการเมือง หน้าที่และบทบาทของพรรคการเมืองแล้ว ต่อไปพวกเราก็ควรจะได้รู้และเข้าใจถึงประวัติของการกำเนิดและวิวัฒนาการของพรรคการเมืองเป็นอันดับต่อไป
โดยคำบรรยายและกิจกรรมในคราวนี้ครอบคลุมสาระ 3 ประการกล่าวคือ:
1.กำเนิดของพรรคการเมือง
2.วิวัฒนาการของพรรคการเมือง
3.การตอบคำถามท้ายบท

กำเนิดของพรรคการเมือง
ในระยะเริ่มแรกของการตั้งพรรคการเมือง ได้ประสบกับอุปสรรคหลายประการ กล่าวคือรัฐบาลในระบอบการปกครองแบบราชาธิปไตย(Monarchies) ต่างๆโดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุโรปได้พยายามขัดขวางมิให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรรวมตัวกันเป็นพรรคการเมืองขึ้น เพราะรัฐบาลหวั่นเกรงว่าพรรคการเมืองต่างๆจะร่วมมือกันโค่นล้มรัฐบาล ในประเทศเยอรมนีได้ออกกฎหมายห้ามจัดตั้งสมาคม ซึ่งเท่ากับว่าไม่ยินยอมให้มีการจัดตั้งพรรคการเมืองนั่นเอง

อย่างไรก็ดีระยะหลังนี้ความคิดในเรื่องพรรคการเมืองได้เปลี่ยนแปลงไป ทั้งนี้เพราะรัฐบาลในหลายประเทศเห็นว่าการขัดขวางมิให้มีการจัดตั้งพรรคการเมืองนั้นไม่สามารถจะกระทำได้เพราะโดยสภาพธรรมชาติของมนุษย์ชอบที่จะรวมกลุ่มกันในหมู่พวกที่มีความคิดในทางการเมืองและเศรษฐกิจตรงกัน ครั้นเมื่อประชาธิปไตยได้เจริญเติบโตเต็มที่ในคริสต์ศตวรรษที่ 19 พรรคการเมืองจึงได้เป็นทียอมรับและเป็นเครื่องมือสำคัญในการสนับสนุนการปกครองระบอบประชาธิปไตยมาจนถึงปัจจุบันนี้

สำหรับกำเนิดของพรรคการเมืองนอกสภาผู้แทนราษฎรในระยะเริ่มแรกนั้น ได้เกิดขึ้นจากการรวมตัวของกลุ่มประชาชนในรูปของสมาคม เช่น สมาคมผู้แทนราษฎร และสมาคมปรัชญา เป็นต้น คือยังมิได้มีการจัดตั้งพรรคการเมืองอย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน และอาจกล่าวได้ว่าสมาคมดังกล่าวได้มีส่วนสำคัญในการก่อกำเนิดพรรคการเมือง ซึ่งการกำเนิดของพรรคการเมืองในสมัยก่อนนั้นมีที่มา 2 แบบด้วยกันกล่าวคือ

1.การกำเนิดของพรรคการเมืองในรัฐสภาและในระหว่างการเลือกตั้ง(Electoral and Parliamentary Origin of Parties) สำหรับกำเนิดของพรรคการเมืองแบบนี้เป็นการเริ่มต้นจากการที่ได้มีการรวบรวมบรรดาผู้แทนราษฎรขึ้นเป็นกลุ่มในรัฐสภา หลังจากนั้นจึงได้มีการจัดตั้งคณะกรรมการดำเนินการเลือกตั้ง เพราะว่ากลุ่มผู้แทนของรัฐสภามีความจำเป็นที่จะต้องติดต่อและมีความสัมพันธ์กับคณะกรรมการดำเนินการเลือกตั้งเสมอ ครั้นถึงคริสต์ศตวรรษที่ 19 ได้มีการชายสิทธิการเลือกตั้งออกไปทำให้เกิดพรรคการเมืองซึ่งมีนโยบายสังคมนิยมในยุโรป

2. การกำเนิดของพรรคการเมืองนอกรัฐสภา(Parliamentary Origin of Parties) การกำเนิดของพรรคการเมืองนอกรัฐสภาเป็นการกำเนิดโดยได้รับอิทธิพลหรือการแทรกแซงจากองค์การภายนอกอันได้แก่บรรดากลุ่มและสมาคม เช่น สมาคมปรัชญาและสมาคมหนังสือพิมพ์ สำหรับในประเทศอังกฤษนั้นมีกิจกรรมของสหพันธ์ได้มีส่วนสำคัญยิ่งในการก่อกำเนิดพรรคกรรมกร

อย่างไรก็ดีในส่วนที่เกี่ยวกับกำเนิดของพรรคการเมืองในยุคสมัยนี้ เกิดขึ้นจากผลของการจำกัดอำนาจรัฐบาลและการขยายสิทธิการลงคะแนนเสียงอย่างกว้างชวาง โจเซฟ ลาพาลอมบารา(Joseph Lapalombara) และ ไทรอน ไวเนอร์ (Myron Weiner) ได้อธิบายกำเนิดของพรรคการเมืองโยเสนอทฤษฎีไว้ดังนี้

1.ทฤษฎีสถาบัน(Institutional Theories) เป็นทฤษฎีที่อธิบายว่า กำเนิดของพรรคการเมืองนั้นเกิดขึ้นจากการรวมตัวกันในรูปของสโมสรและกลุ่ม ซึ่งสืบต่อมาภายหลังได้กลายเป็นพรรคการเมือง เช่น สโมสรจาโคแบง(Jacobin) ในประเทศฝรั่งเศส

2.ทฤษฎีประวัติศาสตร์และสถานการณ์(Historical-Situational Theories) ทฤษฎีนี้ได้อธิบายกำเนิดพรรคการเมืองว่า เกิดจากวิกฤติการณ์ทางประวัติศาสตร์และสถานการ์บางประการ ซึ่งจำแนกได้เป็น 3 รูปแบบดังนี้

2.1 วิกฤติการณ์ความชอบธรรม(Legitimacy Crisis) เป็นวิกฤติการณ์อันเป็นผลสืบเนื่องมาจากการที่ประชาชนเกิดความสำนึกว่าโครงสร้างอำนาจการปกครองของรัฐที่เป็นอยู่มีลักษณะไม่ชอบธรรม ประชาชนจึงสำนึกที่จะรวมกลุ่มกันขึ้นเป็นพรรคการเมือง ทั้งนี้โดยมีวัตถุประสงค์ที่จะหาวิธีการให้เกิดการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างอันไม่ชอบธรรมธรรมนั้น

2.2 วิกฤติการณ์ความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน(Integration Crisis) กล่าวได้ว่าความสำนึกในวิกฤติการณ์ความเป็นน้ำหนึงใจเดียวกันเกิดขึ้นมาเพราะความสืบเนื่องอันเป็นผลมาจากวิกฤติการณ์ความชอบธรรม กล่าวคือเมื่อประชาชนเกิดความสำนึกว่ารัฐบาลปฏิบัติหน้าที่อันแสดงให้เห็นซึ่งความไม่ชอบธรรม ประชาชนเหล่านั้นก็จะรวมตัวกันเข้าเป็นพรรคการเมืองโดยแสวงหาโอกาสที่จะจัดตั้งรัฐบาลขึ้น ทั้งนี้เพื่อจะนำนโยบายของพรรคตนทั้งในทางเศรษฐกิจ การเมือง และสังคม เข้าไปอำนวยประโยชน์ในการบริหารประเทศ

2.3 วิกฤติการณ์มีส่วนร่วม(Participation crisis) วิกฤติการณ์ประเภทนี้มีสาเหตุมาจากเกิดการเปลี่ยนแปลงด้านเศรษฐกิจและสังคมขึ้นในหลายประเทศในยุโรปตะวันตก วิกฤติการณ์ดังกล่าวทำให้เกิดการรวมกลุ่ม เช่นกลุ่มกรรมกร จึงได้มีการจัดตั้งพรรคกรรมกรเสนอตัวเข้าไปมีส่วนร่วมทางการเมืองทั้งนี้เพื่อคุ้มครองและรักษาผลประโยชน์ของพวกตนไว้

3.ทฤษฎีพัฒนาการ(Development Theories) ทฤษฎีนี้อธิบายว่า กำเนิดของพรรคการเมืองเป็นผลของพัฒนาการ 2 ประการ คือ
3.1 ผลของพัฒนาการทางการเมืองได้เปลี่ยนแปลงทัศนคติของประชาชน กล่าวคือประชาชนรู้สึกตัวว่าตนมีสิทธิในการใช้อำนาจทางการเมือง จึงได้เกิดความคิดที่จะจัดตั้งพรรคการเมืองขึ้นมา
3.1 ชนชั้นนำทางการเมือง(Political elite) มีความประสงค์ที่จะได้รับการสนับสนุนขากประชาชน โยชนชั้นนำทางการเมืองเหล่านั้นมีความต้องการที่จะรักษาสถานภาพและอำนาจของพวกตนไว้ ทำให้เกิดการจัดตั้งพรรคการเมืองเพื่อรักษาผลประโยชน์ของตน เช่น พวกพ่อค้าและนายธนาคารเป็นต้น

วิวัฒนาการของพรรคการเมือง

วิวัฒนาการของพรรคการเมือง อาจแบ่งไดเป็น 5 ระยะ หรือ 5 สมัย ดังนี้

1.สมัยเริ่มต้น เพิ่งจะเริ่มต้นจริงเมื่อต้นคริสต์ศตวรรษที่ 19 หรือประมาณร้อยกว่าปีมานี้เอง โดยเริ่มต้นในประเทศยุโรปโดยเฉพาะในอังกฤษก่อนแล้วขยายไปสหรัฐอเมริกา พรรคการเมืองในระยะเริ่มแรกนี้เป็นเพียงการรวมกลุ่มของสมาชิกสภาผู้แทนที่มีความเห็นหรืออุดมการณ์คล้ายคลึงกัน เช่น พวกเสรีนิยม(Liberals) พวกอนุรักษ์นิยม(Conservatives) พวกสาธารณรัฐนิยม(Republicans) พวกประชาธิปไตย(Democrats) พวกนิยมกษัตริย์(Monarchists) พวกสนับสนุนราชวงศ์โบนาพาท(Bonapatists)  เป็นต้น
พรรคการเมืองในสมัยเริ่มต้นนี้ ยังมีลักษณะจำกัด 2 ประการ คือ
ก.พรรคการเมืองเป็นกลุ่มของพวกอภิสิทธิ์ชน(Aristocrat) และพวกกุฎุมพี(Bourgeois)
ข. การรับบุคคลเข้าเป็นสมาชิกมีการคัดเลือกเข้มงวด การต่อสู้ทางการเมืองในระยะนั้นอาจเรียกได้ว่าจำกัดอยู่ในวงของขุนนางและผู้มีอันจะกิน

2.สมัยที่ 2 เริ่มต้นในครึ่งหลังของคริสต์ศตวรรษที่ 19 ในระยะนี้พรรคการเมืองได้พัฒนาก้าวหน้าไปอีกชั้นหนึ่ง เนื่องจากในระยะนี้ได้มีการขายสิทธิ์เลือกตั้งทั่วไป จึงทำให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งมีจำนวนมากขึ้น พรรคการเมืองต่างๆจึงมีความจำเป็นที่จะต้องจัดตั้งองค์การกลางของพรรคขึ้น เพื่อทำหน้าที่รวบรวมคะแนนเสียงสนับสนุนพรรครวบรวมเงินทุนและจัดทำนโยบาย

3.สมัยที่ 3 เริ่มขึ้นในปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19 เป็นระยะที่พรรคการเมืองได้พัฒนาออกไปนอกรัฐสภา โดยมีการจัดตั้งพรรคการเมืองนอกรัฐสภา(Extra-Parliamentary) ขึ้นโยบุคคลต่างๆซึ่งไม่สนใจที่จะสมัครเป็นสมาชิกรัฐสภา แต่ประสงค์จะดำเนินการเมืองนอกรัฐสภา พรรคการเมืองนอกรัฐสภานี้มักจะขอความสนับสนุนจากชนชั้นใดชั้นหนึ่ง โดยเฉพาะชนชั้นคนงาน มีการชักชวนกันเข้ามาเป็นสมาชิกอย่างกว้างขวาง มีการเก็บค่าบำรุงพรรค สมาชิกมีส่วนร่วมในการดำเดินงานของพรรคมากขึ้น นโยบายของพรรคเน้นเฉพาะผลประโยชน์กลุ่มชนชั้นหนึ่งชั้นใดมากขึ้น

4. สมัยที่ 4 เริ่มขึ้นหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 โดยได้กำเนิดพรรคการเมืองแบบเคร่งวินัย คือ พรรคคอมมิวนิสต์ ซึ่งยึดถือความสัตย์ซื่อของสมาชิกแต่ละคนเป็นสิ่งสำคัญ การจ่ายค่าบำรุงอย่างเดียวไม่เพียงพอ สมาชิกจะต้องทำงานและปฏิบัติกิจกรรมตามกฎข้อบังคับพรรค การรับสมัครสมาชิกมีการคัดเลือกมาก โดยเฉพาะต้องมีคุณภาพ ต้องอุทิศตัวและมีวินัย ซึ่งปกติจะมาจากที่ทำงาน เช่น โรงงาน ข้าราชการ มหาวิทยาลัย โรงเรียน และมีการประชุมกันเสมอ นอกจากนั้น ยังถือว่าพรรคเป็นหัวใจสำคัญของระบบการเมืองของประเทศด้วย

5. สมัยที่ 5 เกิดขึ้นภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2โดยเฉพาะทศวรรษ 1950พรรคการเมืองในประเทศตะวันตกและประเทศที่เป็นสังคมอุตสาหกรรมก้าวหน้า(รวมทั้งญี่ปุ่น) ได้เปลี่ยนแปลงลักษณะพรรคการเมืองบางประการ กล่าวคือได้เริ่มสูญเสียอุดมการณ์ พรรคทั้งหมดได้กลายเป็นพรรคของสังคมที่แตกสลาย เพราะความก้าวหน้าทางอุตสาหกรรม ได้แบ่งออกเป็นกลุ่มต่างๆมากมาย ดังนั้น พรรคการเมืองจึงกลายเป็นทั้งตัวแทน(Representative) และนักปฏิรูป(Reformist) พรรคจะเกี่ยวข้องกับปัญหาบางอย่างโดยเฉพาะและแสวงหาทางแก้ไขปัญหานั้นๆ กล่าวคือ เป็นพรรคปฏิบัติการ(Pragmatic) มากกว่าอุดมการณ์ โดยการปรับปรุงอุดมการณ์ให้เข้ากับสภาพการเปลี่ยนแปลงของสังคมมากขึ้น เพื่อหวังจะได้รับเลือกตั้งมากที่สุด


------------------------------------------
คำถามท้ายบท
1.กำเนิดของพรรคการเมืองในสมัยก่อนมีที่มา 2 แบบ คืออะไรบ้าง จงอธิบายมาแต่พอสังเขป
2.โจเซฟ ลาพาลอมบารา และ ไมรอน ไวเนอร์ ได้อธิบายกำเนิดของพรรคการเมืองโดยเสนอทฤษฏีอะไรไว้บ้าง จงอธิบายมาแต่พอสังเขป
3. "The first political parties in Europe and America were the children of representative institutions, an expanding suffrage, and liberal democracy. They tended to develop first within parliaments or legislature."
3.1ให้อ่านประโยคภาษาอังกฤษข้างต้นแล้วแปลเป็นภาษาไทยให้มีความสละสลวย
3.2 พรรคการเมืองในยุโรปและอเมริกามีแนวโน้มว่ามีวิวัฒนาการครั้งแรก ณ ที่ใด

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม